การศึกษาลักษณะแหล่งนิเวศที่อาศัยจำเพาะในช่วงฤดูแล้งของปลาบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี

Titleการศึกษาลักษณะแหล่งนิเวศที่อาศัยจำเพาะในช่วงฤดูแล้งของปลาบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2564
Authorsสุริยัญ แสงหงษ์
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Keywordsความชุกชุมของปลา, ความหลากหลายของปลา, ทรัพยากรปลาน้ำจืด, ปลา, ปลาน้ำจืด, พันธุ์ปลา, ระบบนิเวศแม่น้ำ, แม่น้ำเพชรบุรี
Abstract

การศึกษาลักษณะแหล่งนิเวศที่อาศัยจำเพาะในช่วงฤดูแล้งของปลา บริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรี เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งล่าสุดของประเทศไทย ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างด้วยเครื่องมือข่ายขนาดช่องตาต่างกัน 6 ช่องตา ประกอบด้วย 2, 3, 4, 5.5, 7 และ 9 เซนติเมตร โดยกำหนดจุดเก็บตัวอย่าง 4 จุดสำรวจ ระหว่างละติจูดที่ 12°58'48.3" ถึง 12°53'55.3" เหนือ และลองจิจูดที่ 99°22'19.3" ถึง 99°34'16.7" ตะวันออก จำนวน 6 เที่ยวสำรวจ ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2563 โดยศึกษาความสัมพันธ์ของตัวแปรด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำในการประมาณค่าการเปลี่ยนแปลงความหลากหลาย ความชุกชุมและทำการจัดกลุ่มประชากรปลา ในการใช้เป็นฐานข้อมูลและเสนอแนะแนวทางในการจัดการทรัพยากรปลาน้ำจืดให้เหมาะสม จากผลการศึกษาพบพันธุ์ปลา 10 ครอบครัว จำนวน 31 ชนิด โดยพบวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มากสุดจำนวน 19 ชนิด วงศ์ปลากด-แขยง (Bagridae) จำนวน 4 ชนิด ส่วนที่เหลือ 8 วงศ์ พบวงศ์ละ 1 ชนิด ชนิดพันธุ์ปลาที่พบปริมาณมากสุด คือปลาขี้ยอกหางเหลือง (Mystacoleucus marginatus) เมื่อพิจารณาความชุกชุมสัมพัทธ์ของปลาตามเที่ยวสำรวจพบมากในระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคมซึ่งอยู่ช่วงต้นฤดูแล้งและมีแนวโน้มลดลงในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนมีค่าเฉลี่ย 44.58±21.12 ตัวต่อพื้นที่ข่าย 100 ตารางเมตรต่อคืน และความชุกชุมสัมพัทธ์โดยน้ำหนักมีค่าเฉลี่ย 1,334.64±490.91 กรัมต่อพื้นที่ข่าย 100 ตารางเมตรต่อคืน ความหลากชนิดพันธุ์มีค่าเฉลี่ย 10.75±3.36 ดัชนีความความหลากหลายมีค่าเฉลี่ย 1.77±0.3 และดัชนีความเท่าเทียมมีค่าเฉลี่ย 0.32±0.02 จากการศึกษาอิทธิพลตัวแปรด้านสิ่งแวดล้อมกับชนิดพันธุ์ปลาพบว่าชนิดพันธุ์ที่แปรผันตรงกับพื้นท้องน้ำที่มีลักษณะของแผ่นหินเป็นองค์ประกอบหลักและมีร่มเงา ส่วนใหญ่พบบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ เช่น ปลาตะเพียนปากหนวด (Hypsibarbus vernayi) และปลาเวียน (Tor tambroides) ชนิดที่แปรผันตรงกับระดับความลึกของน้ำส่วนใหญ่เป็นชนิดพันธุ์หลักที่พบใน อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน เช่น ปลากระมัง (Puntioplites proctozysron) และปลานิล (Oreochromis niloticus) ชนิดที่แปรผันตรงกับลักษณะที่มีกระแสน้ำไหลแรง พื้นท้องน้ำส่วนใหญ่เป็นทรายและก้อนหิน จะพบปลากระทุงเหว (Xenentodon cancila) ปลารากกล้วย (Aperioptus delphax) และปลาซิวควายแถบดำ (Rasbora paviana) ชนิดที่แปรผันตรงกับพื้นท้องน้ำที่มีดินโคลนเป็นองค์ประกอบหลักจะเป็นกลุ่มปลาไส้ตัน ส่วนชนิดพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันกับอุณหภูมิน้ำ เช่น ปลากระสูบขีด (Hampala macrolepidota) และปลานางอ้าว (Raiamas guttatus) จากการประเมินอิทธิพลของจุดสำรวจและช่วงเวลาสำรวจต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณความชุกชุมของปลา พบว่ามีความแตกต่างกันตามจุดสำรวจมากกว่าช่วงเวลาสำรวจและจากการ จัดกลุ่มของปลา 2 รูปแบบ ประกอบด้วยกลุ่มของชนิดปลา (R-mode) จำแนกได้ 5 กลุ่ม ส่วนการ จัดกลุ่มตัวอย่าง (Q-mode) (จุดสำรวจและเที่ยวสำรวจ) จำแนกได้ 4 กลุ่ม จากการวิเคราะห์ความคล้ายคลึง (ANOSIM) ระหว่างกลุ่มพบว่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) โดยกลุ่มตัวอย่างที่เด่น ได้แก่กลุ่มที่ชอบอาศัยบริเวณที่น้ำนิ่งและกลุ่มที่พบตามแหล่งน้ำไหลที่พบได้ทั่วไปใน ลำน้ำ ส่วนข้อเสนอแนะในการจัดการควรกำหนดเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำชุมชนบริเวณพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำเพชรบุรี (แม่เสลียงและโป่งแดง) และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศในพื้นที่เขตอนุรักษ์เพื่อสร้างความตระหนักถึงการดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำที่สำคัญของพื้นที่

Title Alternate Suitable micro habitats as dry season refuges for fishes in the Petchaburi river, Khangkrachan National Park, Petchaburi province, Thailand