ผลกระทบต่อสมรรถนะและการสึกหรอในการใช้งานระยะยาวของเครื่องยนต์ดีเซลทางการเกษตรที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นเชื้อเพลิง

Titleผลกระทบต่อสมรรถนะและการสึกหรอในการใช้งานระยะยาวของเครื่องยนต์ดีเซลทางการเกษตรที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นเชื้อเพลิง
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsกิติพงษ์ เสถียรเสาวภาคร์
Degreeวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
Institutionคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTJ ก677
Keywordsน้ำมันดีเซล -- ระบบเชื้อเพลิง, น้ำมันพืช -- ระบบเชื้อเพลิง, เครื่องยนต์ดีเซล -- ระบบเชื้อเพลิง, เชื้อเพลิงไบโอดีเซล -- ผลกระทบต่อเครื่องยนต์ดีเซล
Abstract

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบต่อสมรรถนะและการสึกหรอของเครื่องยนต์ดีเซล เมื่อนำน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันพืชใช้แล้วล้วนมาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลงในเครื่องยนต์ดีเซล โดยเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ทำการทดสอบกับเครื่องยนต์ดีเซลทางการเกษตรขนาด 1 สูบ ยี่ห้อคูโบต้า รุ่น RT 110 จำนวน 2 เครื่อง ขนาดความจุกระบอกสูบ 598 ซีซี โดยไม่มีการปรับแต่งเครื่องยนต์ โดยนำเครื่องยนต์ทั้งสองไปใช้เป็นเครื่องจักรต้นกำลังของปั้มสูบน้ำ ทำการศึกษาสมรรถนะ การสึกหรอ และการปล่อยควันดำของเครื่องยนต์ หลังจากระยะเวลาการใช้งาน 0, 500, 1000, 1500 และ 2000 ชั่วโมง เมื่อครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้วนำเครื่องยนต์ไปทดสอบสมรรถนะและหาปริมาณควันดำบนแท่นทดสอบ พร้อมถอดชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ออกเพื่อทำการวัดการสึกหรอ โดยชิ้นส่วนที่ทำการวัดการสึกหรอคือแหวนลูกสูบ ลูกสูบ และกระบอกสูบ ซึ่งชิ้นส่วนที่ทำการวัดเป็นชิ้นส่วนที่สัมผัสกับน้ำมันเชื้อเพลิงโดยตรง
จากการทดสอบสมรรถนะและการสึกหรอสามารถสรุปได้ว่า ค่าแรงบิดและกำลังงานของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้ค่าใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ในช่วงความเร็วรอบประมาณ 1200-2400 รอบต่อนาที โดยมีค่าแรงบิดและกำลังงานต่ำกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 5% โดยเฉลี่ย ที่ระยะเวลาต่าง ๆ แต่อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเชื้อเพลิงจำเพาะจะสูงกว่าประมาณ 10% โดยเฉลี่ย ที่ระยะเวลาต่าง ๆ และให้ปริมาณควันดำต่ำกว่าเครื่องยนต์ดีเซลประมาณ 40% ที่ชั่วโมงการทำงาน 300 ชั่วโมง และให้ปริมาณควันดำต่ำกว่าเครื่องยนต์ดีเซลประมาณ 20% ที่ช่วงชั่วโมงการทำงานที่ 1000-2000 ชั่วโมง
สำหรับผลการวัดการสึกหรอของเครื่องยนต์พบว่า ชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลมีค่าความสึกหรอใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ที่ระยะเวลาการทำงานต่าง ๆ และที่ระยะเวลาการใช้งานมากขึ้น การสึกหรอจะมากขึ้นตามไปด้วย แต่การสึกหรอของเครื่องยนต์ทั้งสองเครื่องก็ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือช่วงที่ยอมให้ได้ตามคู่มือที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด

Title Alternate Effects to performance and wear condition of the agricultural diesel engine in long term test using biodiesel from wasted cooking oil as a fuel