การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สำหรับการป้องกันและควบคุมยุงลายและโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

Titleการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สำหรับการป้องกันและควบคุมยุงลายและโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2552
Authorsจารุวรรณ์ วงบุตดี, วัชรพงษ์ แสงนิล, นันทยา กระสวยทอง
Institutionวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRC147.H44 จ337
Keywordsยุงลาย -- การควบคุม, ระบบการจัดเก็บและค้นข้อสนเทศ -- ภูมิศาสตร์, ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ -- อุบลราชธานี, ไข้เลือดออก, ไข้เลือดออก -- การป้องกันและควบคุม
Abstract

โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสำคัญของประเทศและจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากประชาชนยังขาดการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสำรวจความชุกชุมของลูกน้ำยุงลาย 2) เพื่อศึกษาการรับรู้และพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้เลือดออกของประชาชน 3) เพื่อประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ในการพัฒนาฐานข้อมูลและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก 4) เพื่อพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลสำหรับการป้องกันและควบคุมยุงลายและโรคไข้เลือดออก โดยคัดเลือกหมู่บ้านที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงสุด 3 ปีย้อนหลัง (พ.ศ.2548-2550) จำนวน 10 หมู่บ้าน ทำการสำรวจความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายโดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนระบาด (มกราคม-เมษายน 2551) โดยเก็บข้อมูลในเดือนเมษายน 2551 และช่วงระยาด (พฤษภาคม-สิงหาคม 2551) โดยเก็บข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2551 ในแต่ละหมู่บ้านทำการสุ่มแต่ละหลังคาเรือนแบบเลือกตัวอย่างเชิงสุ่ม ร้อยละ 70 หรือมากกว่าของจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมดในแต่ละหมู่บ้าน สำรวจในภาชนะที่มีน้ำขังทั้งภายในบ้านและบริเวณนอกบ้านตามดัชนีลูกน้ำยุงลาย House Index (HI), Container Index (CI) และ Breteau Index (BI) เก็บตำแหน่งพิกัดหลังคาเรือนที่ทำการสำรวจลูกน้ำยุงลายในแต่ละหมู่บ้านด้วยเครื่อง GPS รวบรวมข้อมูลการรับรู้และพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้เลือดออกในเดือนมีนาคม 2551 ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ จำนวน 383 ครัวเรือน พัฒนาฐานข้อมูลด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และทำการประมวลผลพื้นที่เสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออกด้วยโปรแกรม ArcGIS 9.3 ทำการกำหนดระยะห่างจากแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในระยะ 30 เมตร และ 60 เมตร ผลการศึกษาพบว่า ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในช่วงก่อนระบาดหมู่บ้านโนนจิก หมู่บ้านโนนสวาง และหมู่บ้านห้วยทีเหนือ มีค่า BI≥50 มีความเสี่ยงอยู่ในระดับมากที่สุด และในช่วงระบาด พบว่า หมู่บ้านห้วยทีเหนือ และหมู่บ้านโนนจิก มีค่า BI≥50 มีความเสี่ยงอยู่ในระดับมากที่สุด สำหรับการรับรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกของประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูง (91.10%) ส่วนพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้เลือดออกของประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน (50.90%) การหาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกกับพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้เลือดออกของประชาชน พบว่า มีความสัมพันธ์กันในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=0.26, p-value<0.001) ดังนั้น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์เข้ามาช่วยในการพัฒนาฐานข้อมูลการป้องกันและควบคุมยุงลายและโรคไข้เลือดออก สามารถบ่งบอกตำแหน่งหลังคาเรือนที่สำรวจพบลูกน้ำยุงลายได้ชัดเจนและตรงกับพื้นที่จริงบนพื้นผิวโลก จึงสามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจและการวางแผนการป้องกันและควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Title Alternate Application of geographic information system (GIS) for dengue vector mosquito and haemorrhagic fever prevention and control in Ubon Ratchathani Province