Title | มาตรการด้านการศึกษากฎหมายกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : กรณีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพทนายความ |
Publication Type | งานวิจัย/Research report |
Year of Publication | 2567 |
Authors | สุภาวณีย์ อมรจิตสุวรรณ |
Institution | คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Keywords | กฎหมายกับสังคมศาสตร์, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, การศึกษากฏหมาย, ทนายความ, วิชาชีพทนายความ |
Abstract | การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหามาตรการในด้านการศึกษากฎหมายเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการนำหลักการฝึกประสบการณ์วิชาชีพทนายความมาบูรณาการเพื่อให้เป็นแบบอย่าง และหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการศึกษากฎหมายในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับมนุษย์เพราะทำให้มนุษย์เกิดการพัฒนาและนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในชีวิตของตนเองครอบครัว และสังคม ทั้งยังเป็นบริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่รัฐจำเป็นต้องจัดทำให้กับมนุษย์ในสังคมหรือรัฐของตนเอง
การศึกษากฎหมายนับเป็นการเสริมทักษะในการพัฒนาเพื่อการดำรงชีวิตของทรัพยากรมนุษย์ เพราะกฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ในสังคม ช่วยหล่อหลอมขัดเกลาความประพฤติของมนุษย์ให้เป็นไปตามสังคมของรัฐเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และก่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่ และความยุติธรรมกับมนุษย์ด้วย อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ของมนุษย์ในสังคม แต่มาตรการด้านการศึกษากฎหมายที่เป็นอยู่ได้สะท้อนถึงปัญหาของกระบวนการในการสร้างมนุษย์ หรือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้นำออกไปใช้จริงหรือไม่ ซึ่งปัญหาของการผลิตนักกฎหมายที่เรียนสาขานิติศาสตร์จากที่กล่าวมา ทำให้ผู้วิจัยต้องการหาคำตอบจากโจทย์วิจัยในเรื่องมาตรการด้านการศึกษากฎหมายเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จากกรณีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพทนายความเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการค้นคว้าหาคำตอบ
จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า การฝึกประสบการณ์วิชาชีพทนายความส่งผลต่อประสิทธิภาพในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ศึกษากฎหมายเพื่อไปประกอบวิชาชีพ เพราะ"การฝึกประสบการณ์วิชาชีพทนายความ" เป็นเพียงโมเดลหนึ่งของรูปแบบของการศึกษาที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเพื่อที่จะทำให้ผู้เรียนได้นำทักษะที่ได้จากการเรียนรู้มาตลอดระยะเวลา
ของระบบการศึกษาปริญญาตรีจากผลการศึกษาวิจัยได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังนี้
(1) ระบบและองค์รวมของการศึกษาสาขากฎหมายต้องทำให้ผู้เรียนมีความรู้และได้รับข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามกลไกพลวัตรโลก
(2) หลักสูตรนิติศาสตร์หรือสาขากฎหมายในยุคศตวรรษที่ 21 ต้องออกแบบให้ปรับตัวและปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และวิธีคิดใหม่เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านกฎหมายแบบมีองค์รวมด้วยมาตรฐานเดียวกัน และออกแบบให้นักศึกษามีความรู้ในวิชาหลักและต้องเรียนรู้ในลักษณะสหวิทยาการ รวมถึงศาสตร์อื่น ๆ อันเป็นความรู้รอบตัวด้วย โดยให้สอดคล้องกับการมีชีวิตได้ในหลากหลายมิติของโลกในยุคศตวรรษที่ 21
(3) หลักสูตรต้องมีการสอดแทรกการมีภาวะผู้นำ และการเป็นผู้ที่รู้จักทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ทั้งยังต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตและมีทักษะของความร่วมมือเพื่อการ
ก้าวข้ามสาระวิชากฎหมายไปสู่การเรียนรู้ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 อย่างบูรณาการด้วยกระบวนทัศน์การเรียนการสอนเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตและยืนหยัดในโลกอนาคตได้อย่างมีความสุข ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและในด้านหน้าที่การงาน
(4) ออกแบบหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างให้นักศึกษามีคุณลักษณะทักษะแห่งอนาคตใหม่เพื่อการพัฒนาจิตสำนึกต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จิตสำนึกต่อการเป็นพลเมือง และจรรโลงให้สังคมในโลกอนาคตน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
(5) กำหนดมาตรฐานของสถาบันการศึกษาที่จะเปิดหลักสูตรนิติศาสตร์หรือสาขากฎหมายโดยจะต้องมีการกำหนดสัดส่วนของผู้สอนต่อนักศึกษาที่จะเข้าเรียนเพื่อให้มีคุณภาพในการศึกษา และต้องกำหนดเกรดเฉลี่ยในการเข้าศึกษาเพื่อคุณภาพของบัณฑิตที่จบการศึกษาในศาสตร์นี้ รวมถึงกำหนดมาตรฐานของผู้สอนที่จะสามารถทำการสอนในศาสตร์กฎหมายได้จะต้องมีคุณวุฒิระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์ในด้านกฎหมายมาแล้วเป็นเวลาสองปี เพื่อจะได้เข้าใจบริบทของการเป็นวิชาชีพกฎหมายในการที่จะได้ถ่ายทอดให้กับนักศึกษาที่เรียนศาสตร์นี้ได้อย่างเข้าใจ
(6) ผู้เรียนจะต้องมีประสบการณ์ทางด้านสาขาอื่นมาแล้ว หรือมีปริญญาตรีสาขาอื่นมาก่อนจึงจะเข้าศึกษาในศาสตร์ของกฎหมายหรือนิติศาสตร์ได้ เพื่อจะได้เข้าใจในวิชาชีพกฎหมายได้อย่างถ่องแท้
(7) คณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติควรเพิ่มเติมในแผนการจัดทำแผนการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์แห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวกับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพทนายความอีกทั้งกระทรวงอุดมศึกษาและสภาองค์กรวิชาชีพด้านกฎหมาย อาทิ สภาทนายความแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และเนติบัณฑิตยสภาในพระบรมราชูปถัมภ์ จะต้องตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของหลักสูตรและสถาบันการศึกษา ตลอดจนการควบคุมและจำกัดผู้เข้าประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายเพื่อมาตรฐานทางวิชาชีพด้านกฎหมายและการแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
|
Title Alternate | Legal education measures and human resource development :$bcase study legal professienonal apprenticeship |