แนวทางการพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืนเพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว: กรณีศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Titleแนวทางการพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืนเพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว: กรณีศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2564
Authorsพรมสาลี, ตระการ
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Keywordsการขนส่งอย่างยั่นยืน, การประเมิน ต้นทุนส่วนเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจก, ก๊าซเรือนกระจก, มหาวิทยาลัยสีเขียว
Abstract

งานวิจัยฉบับนี้เป็นการสำรวจพฤติกรรมการเดินทาง และประเมินก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเดินทาง และการขนส่งของนักศึกษาและบุคลากรเพื่อเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดย สำรวจแนวทางการพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืนจากภาพวาดแห่งอนาคต 3 รูปแบบ คือ 1) สถานการณ์แบบเป็นไปตามปกติ (Business as usual scenario: BAU scenario) 2) สถานการณ์ที่มีรถขนส่งมวลชนไฟฟ้า (Electric vehicle scenario: EV scenario) และ 3) สถานการณ์ที่มีทางเท้าและเส้นทางจักรยาน (Non-motorized transport scenario: NMT scenario) ทำการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการเดินทาง ในปี พ.ศ. 2563 และการคาดการณ์ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า และวิเคราะห์ต้นทุนส่วนเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจก (Marginal abatement cost: MAC) ผลการศึกษาจากตัวอย่างกลุ่มประชากร 400 คน พบว่า นักศึกษาและบุคลากรส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ร้อยละ 82.00 และรถยนต์ร้อยละ 14.00 โดยที่มีระยะทางเฉลี่ยที่เกิดขึ้นเท่ากับ 2.97 กิโลเมตร/คน/วัน และมีการใช้ยานพาหนะ 1 คัน ต่ออัตราผู้โดยสารเฉลี่ย 1.19 คน การศึกษาแนวทางในการพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืนพบว่า นักศึกษาและบุคลากรส่วนใหญ่มีความสนใจในเรื่อง EV scenario ร้อยละ 55.00 และ MNT scenario ร้อยละ 23.80 และยังพบว่ามีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 ทั้งหมด 1,028.07 tCO2eq/ปี มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นต่อคนเท่ากับ 0.06 tCO2eq/คน/ปี และผลการศึกษาปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี พ.ศ. 2573 โดยพิจารณาจากสัดส่วนการเลือกภาพวาดแห่งอนาคตของนักศึกษาและบุคลากร พบว่า มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจาก EV scenario และ MNT scenario มีค่าน้อยกว่า BAU scenario 648.78 และ 271.73 tCO2eq ตามลำดับ นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า MAC ของ EV scenario มีค่าเท่ากับ 2,169.19 บาท/tCO2eq และสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 6,037.73 tCO2eq/10 ปี และในส่วนของ NMT scenario มีค่าเท่ากับ 23,158.43 บาท/tCO2eq และสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 2,520.97 tCO2eq/10 ปี จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าการพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีควรเลือกการให้บริการรถขนส่งมวลชนไฟฟ้า เนื่องจากจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงแล้วยังมีค่าต้นทุนส่วนเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจกที่น้อยกว่าการพัฒนาทางเท้าและทางจักรยาน

Title Alternate Sustainable transport, green university, greenhouses gas, marginal abatement cost