Title | การประเมินผลสัมฤทธิ์การติดตั้งซั้งเชือกเพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2567 |
Authors | อมรสิน, ลลิตา |
Degree | วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาเกษตรศาสตร์ |
Institution | คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Keywords | การอนุรักษ์สัตว์น้ำ, ความหลากหลายทางชีวภาพ, ซั้งเชือก, อ่าวตราด |
Abstract | การประเมินผลสัมฤทธิ์การติดตั้งซั้งเชือกเพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ พื้นที่อ่าวตราด บ้านคลองมะขาม อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบองค์ประกอบชนิดสัตว์น้ำและเปรียบเทียบความหลากหลายทางชีวภาพ ระหว่างจุดสำรวจในพื้นที่ทำการศึกษา 3 จุดสำรวจ ได้แก่ (พื้นที่ซั้งเก่า (A) พื้นที่ควบคุม (B) และพื้นที่ซั้งใหม่ (C) โดยทำการรวบรวมข้อมูลผลจับสัตว์น้ำในรอบ 1 ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึง เดือนพฤศจิกายน 2565 จากการศึกษาพบพันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 31 วงศ์ 41 ชนิด โดยพบวงศ์ Carangidae จำนวน 4 ชนิด วงศ์ Portunidae จำนวน 4 ชนิดวงศ์ Penaeidae จำนวน 3 ชนิด วงศ์ Scombridae จำนวน 2 ชนิด วงศ์ Loliginidae จำนวน 2 ชนิด ส่วนที่เหลือ 26 วงศ์ พบวงศ์ละ 1 ชนิด เมื่อพิจารณาความสำคัญสัมพัทธ์ชี้ให้เห็นว่า ชนิดสัตว์น้ำที่พบก่อนและหลังการวางซั้งเชือกที่ร้อยละ 5 ในจุดสำรวจ A คือ กุ้งโอคัก (Metapenaeus affinis)จุดสำรวจ B คือ หมึกสาย (Octopus dollfusi) และจุดสำรวจ C คือ หมึกสายและปลาตะเพียนน้ำเค็ม (Anodontostoma chacunda) และปริมาณความชุกชุมกับมวลชีวภาพพบว่า ทุกจุดสำรวจก่อนและหลังการวางซั้งเชือกมีค่า W statistic ติดลบ แสดงว่าโครงสร้างโดยรวมมีสัตว์น้ำขนาดเล็กมากกว่าสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ซึ่งสัตว์น้ำขนาดใหญ่อาจได้รับผลกระทบจากการทำการประมงและถูกกดดันจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ในพื้นที่ทำการศึกษามีการทำการประมงเพื่ออาชีพและยังชีพเป็นหลักส่งผลให้สัตว์น้ำขนาดใหญ่อพยพเพื่อหลบภัยและทั้งนี้สัตว์น้ำบางชนิดมีการอพยพเพื่อไปวางไข่ตามฤดูกาล เมื่อนำมาวิเคราะห์ทางสถิติ Kruskal-Wallis test ดัชนีความหลากหลายในจุดสำรวจ B และ C ก่อนและหลังการวางซั้งเชือกพบว่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เป็นเพราะช่วงของฤดูกาล เนื่องจากฤดูมรสุมทำให้สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย การประมงจึงลดน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงฤดูแล้ง ดัชนีความเท่าเทียมในจุดสำรวจ A B และ C หลังการวางซั้งเชือกพบว่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) แต่อย่างไรก็ตามจุดสำรวจ B และ C หลังการวางซั้งเชือกไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ดัชนีความมากชนิดพบว่าเดือนธันวาคม 2564ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 (ก่อนการวางซั้งเชือก) และเดือนมิถุนายน 2565 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 (หลังการวางซั้งเชือก) แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) จากการศึกษาแสดงให้เห็นถึงฤดูแล้งมีปริมาณสัตว์น้ำมากกว่าฤดูมรสุม การวิจัยในครั้งนี้มุ่งเน้นการวิเคราะห์ความหลากหลายของสัตว์น้ำ เพื่อนำไปต่อยอดองค์ความรู้ด้านวิชาการประมง การวางแผนจัดการการติดตั้งซั้งเชือก รวมทั้งการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรประมงให้มีความสมดุลและยั่งยืนต่อไป |
Title Alternate | Evaluation of fish enhancing devices installation achievement for aquatic animal conservation |