การออกแบบและพัฒนาระบบติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำโดยใช้เทคนิคไบโอฟล็อคด้วยเทคโนโลยีไอโอที

Titleการออกแบบและพัฒนาระบบติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำโดยใช้เทคนิคไบโอฟล็อคด้วยเทคโนโลยีไอโอที
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2566
Authorsโคตรพรม, ปิยวัฒน์
Degreeวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
Institutionคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
KeywordsIoT, การตรวจสอบคุณภาพน้ำ, การพัฒนาเซ็นเซอร์, การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, ประเมินคุณภาพน้ำ, ระบบติดตาม, ไบโอฟล็อค, ไอโอที
Abstract

ไบโอฟล็อคถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญในการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมุ่งหวังลดการใช้น้ำและเสริมสร้างระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนผ่านการใช้จุลินทรีย์ในการแปรรูปของเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างการเพาะเลี้ยง ให้เป็นอยู่ในรูปแบบตะกอนสิ่งมีชีวิตที่เป็นทั้งอาหารและช่วยลดสารพิษในน้ำ อย่างไรก็ตาม การใช้งานไบโอฟล็อคมักพบเจอปัญหาหลายอย่าง เช่น ความจำเป็นในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอและการขาดวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการจัดการระบบอัตโนมัติ วิทยานิพนธ์นี้เป็นการเสนอการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบไบโอฟล็อคสำหรับการเลี้ยงปลาอย่างยั่งยืน ภายใต้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอโอทีในระบบตรวจสอบพารามิเตอร์คุณภาพน้ำเป็นแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงปลา ซึ่งมีการศึกษาออกแบบและพัฒนาเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอโอทีในการออกแบบระบบตรวจสอบพารามิเตอร์คุณภาพน้ำ โดยระบบประกอบด้วยสถานีตรวจวัดที่ดูดน้ำตัวอย่างเข้าสู่ภาชนะเพื่อตรวจวัดค่าคุณภาพน้ำ แสดงผล และส่งข้อมูลอย่างต่อเนื่อง (2) การออกแบบและพัฒนาเพื่อขยายขีดความสามารถของระบบ ให้สามารถตรวจวัดคุณภาพน้ำในบ่อปลาสี่บ่อพร้อมกันผ่านสถานีตรวจวัดเดียว เพิ่มเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณจุลชีพ และแก้ไขข้อจำกัดของเซ็นเซอร์ชนิดเคมีไฟฟ้าเพื่อลดความคลาดเคลื่อน รวมถึงการออกแบบระบบปั้มเติมอากาศเพื่อควบคุมปริมาณการเติมอากาศในน้ำให้เหมาะสม (3) การศึกษาและพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณจุลชีพเพื่อลดต้นทุน โดยใช้เทคนิคการดูดกลืนแสงเพื่อวัดปริมาณจุลชีพในน้ำ ผลการทดสอบสถานีตรวจวัดต้นแบบ ระบบที่สร้างขึ้นสามารถเก็บตัวอย่างน้ำและตรวจวัดค่าพารามิเตอร์คุณภาพน้ำได้ครอบคลุมทั้งหมด 4 บ่อ อีกทั้งสามารถส่งสัญญาณควบคุมปั๊มเติมอากาศตามเงื่อนไขทดสอบที่ผู้ใช้ตั้งไว้ ช่วยลดแรงงานและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ประหยัดเวลาและทรัพยากรที่ต้องใช้ในการดำเนินงาน ลดต้นทุนในด้านการจัดการพลังงาน รวมทั้งประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนเป็นพลังงานเสริม โดยมีการพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณจุลชีพ เซ็นเซอร์ต้นแบบนี้มีความสามารถในการตรวจวัดและบอกถึงแนวโน้มของปริมาณจุลชีพได้ใกล้เคียงกับเครื่องมือวัดมาตรฐาน

Title Alternate Design and development of water quality conditioning monitoring system based on bio-floc technique with IoT technology