การถอดบทเรียนการทำการประมง“ตุ้มลาน”ในแม่น้ำมูลพื้นที่บ้านคันลึมน้อย อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

Titleการถอดบทเรียนการทำการประมง“ตุ้มลาน”ในแม่น้ำมูลพื้นที่บ้านคันลึมน้อย อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2567
Authorsเที่ยงผดุง, ศุภวัฒน์
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Keywordsตุ้มลาน, ประมงน้ำจืด, เครื่องมือประมง, แม่น้ำมูล
Abstract

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการถอดบทเรียนการทำการประมง "ตุ้มลาน" ในแม่น้ำมูล พื้นที่บ้านคันลืมน้อย อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เกษตรกรที่ประกอบอาชีพประมงด้วยเครื่องมือประมงตุ้มลาน ประเด็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเลือกไม้ไผ่ในการทำตุ้มลานและวิธีการทำเครื่องมือประมงตุ้มลาน พบว่าเกษตรกรเลือกใช้ไผ่ตงเป็นวัสดุสำหรับทำตุ้มลาน โดยให้เหตุผลว่า ไผ่ตงมีเนื้อไม้ที่มีความเหนียวแข็งแรงและทนทานเมื่อนำมาทำตุ้มลานจะมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นและไผ่ตง 1 ลำ สามารถนำมาทำตุ้มลานได้ 15 หลัง ซึ่งการทำตุ้มลานสามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การทำโครงตุ้มลาน ขั้นตอนที่ 2 การสานตู๊ (พื้นตุ้มลาน) ขั้นตอนที่ 3 การสาน "งา" ส่วนประเด็นการเลือกใช้เหยื่อพบว่า ชาวประมงที่ทำการประมงด้วยเครื่องมือตุ้มลานมีเหยื่อที่นิยมใช้ทำการประมงอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ รำ และรำผสมขี้ควายส่วนสถานที่วางเครื่องมือตุ้มลานชาวประมงจะวางเครื่องมือตุ้มลานบริเวณถ้ำหรือหลืบหินที่เป็นแหล่งอาศัยของปลา นอกจากนี้ได้มีการศึกษาองค์ประกอบของชนิดพันธุ์ และผลจับสัตว์น้ำที่จับได้โดยเครื่องมือประมงตุ้มลาน ในแม่น้ำมูล บริเวณบ้านคันลืมน้อย ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนเมษายน 2565 โดยพิจารณาถึงช่วงเดือนที่ทำการประมง ชนิดของเหยื่อ และช่วงเวลาจันทรคติ พบว่าปลาที่จับได้โดยเครื่องมือประมงตุ้มลานประกอบด้วยปลาในวงศ์ Cyprinidae และวงศ์ Bagridac โดยพบวงศ์ปลาตะเพียนมากที่สุด 5 ชนิด โดยผลจับสัตว์น้ำที่ได้ในช่วงเดือน ชนิดของเหยื่อ และช่วงเวลาจันทรคติ มีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนพบว่าระหว่างปัจจัยช่วงเดือนกับชนิดของเหยื่อช่วงเดือนกับช่วงเวลาจันทรคติ และช่วงเวลากับช่วงเวลาจันทรคติ มีปริมาณผลจับสัตว์น้ำที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างช่วงเดือนกับช่วงเวลา ชนิดของเหยื่อกับช่วงเวลา และชนิดของเหยื่อกับช่วงเวลาจันทรคติ ส่วนอิทธิพลร่วมระหว่างช่วงเดือน ช่วงเวลา และช่วงเวลาจันทรคติมีปริมาณผลจับสัตว์น้ำที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) โดยตลอดการทดลองพบว่าตุ้มลานที่ใช้เหยื่อรำผสมขี้ควาย จับปลาได้มากที่สุด รองลงมา คือ ตุ้มลานที่ใส่เหยื่อรำและตุ้มลานที่ไม่ใส่เหยื่อ ตามลำดับ และการศึกษาครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่สามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำเครื่องมือประมงตุ้มลาน รวมถึงการหาปลาโดยใช้เครื่องมือนี้มีจำนวนน้อยและเป็นผู้สูงวัย ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะชุมชนควรตระหนักรู้ เพื่อส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดและเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบต่อไป

Title Alternate Lesson learned for fishing traps in the Mun river of Thailand Ban Khan Lum Noi Phibun Mangsahan district Ubonratchathani