รูปแบบการจัดการปัญหาสาธารณะของหน่วยงานท้องถิ่น : กรณีศึกษาชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี

Titleรูปแบบการจัดการปัญหาสาธารณะของหน่วยงานท้องถิ่น : กรณีศึกษาชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsรัฐกิจ หิมะคุณ
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต
Institutionมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHV ร352
Keywordsคนจน--ที่อยู่อาศัย--ไทย--อุบลราชธานี, ชุมชนแออัด--ไทย--อุบลราชธานี, ที่ดินสาธารณะ--ไทย--อุบลราชธานี--ปัญหาและข้อพิพาท, ที่อยู่อาศัย--ไทย--อุบลราชธานี, บริการสาธารณะ--ไทย--อุบลราชธานี, รัฐบาล--บริการสาธารณะ
Abstract

การศึกษาวิจัยรูปแบบการจัดการปัญหาสาธารณะของหน่วยงานท้องถิ่น : กรณีศึกษาชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อศึกษารูปแบบหรือลักษณะการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยของหน่วยงานท้องถิ่น ในฐานะเป็นหน่วยหลักในเขตพื้นที่รับผิดชอบ (2) เพื่อศึกษาปัจจัยความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยของหน่วยงานท้องถิ่น (3) เพื่อศึกษาขบวนการประชาสังคมกรณีเฉพาะชุมชนแออัดแห่งหนึ่งต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ตามระบอบประชาธิปไตย (4) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงสาเหตุ
สำคัญของการเกิดขบวนการประชาสังคมของชุมชนแออัดแห่งหนึ่งต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยโดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่รู้เรื่องราวเป็นอย่างดีหรือที่เรียกว่าผู้ให้ข่าว (key informant) จำนวน 7 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการถ่ายทอดคำ
สัมภาษณ์เป็นตัวบท (texts) ควบคู่กับการสังเกตการณ์และการใช้วิธีการสังเคราะห์จากกรณีศึกษาในบริบททางการเมืองท้องถิ่น ลักษณะชุมชนกิจกรรมเศรษฐกิจชุมชนและสภาพแวดล้อมทั่วไป
ผลการวิจัยพบว่า หน่วยงานท้องถิ่น ใช้รูปแบบ/ลักษณะการจัดการกับปัญหาที่อยู่อาศัยโดยการเปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคประชาชน องค์การและหน่วยงานอื่นๆ รวมกับชาวชุมชนเจ้าของปัญหา ร่วมคิดร่วมปรึกษาสะท้อนความคิดเห็นรวมกันเกี่ยวกับแนวทางหรือมาตรการในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ข้าราชการประจำในหน่วยงานท้องถิ่นยังได้ให้ความช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่างๆ ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้กระตุ้น สนับสนุน และจูงใจ (facilitator) ให้ชุมชนเข้าแก้ไขปัญหาด้วยตนเองในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ ส่วนรูปแบบที่เป็นทางการได้ทำบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ธนาคารออมสิน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ฯลฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือชุมชน กรณีปัญหาที่อยู่อาศัย อย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของหน่วยงานท้องถิ่นยังไม่
สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงเพราะส่วนหนึ่งมาจากผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องของกรรมสิทธิ์ที่ดินและผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง ด้านปัจจัยความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาสาธารณะ : กรณีปัญหาด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย พบว่า (1) ระบบราชการไม่มีความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน มุ่งเน้นการจัดการปัญหาในแนวดิ่ง ไม่สามารถเป็นหน่วยงานที่ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการอื่นๆ ทั้งภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น ในรูปของภาคีหรือหุ้นส่วนในการทำงานได้ (2) นโยบายถูกปฏิเสธโดยผู้มีอิทธิพลทางการเมืองท้องถิ่นที่มีอำนาจในหน่วยงานท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นไม่สามารถเป็นผู้นำในการชักจูงให้ผู้ปฏิบัติเห็นความสำคัญของแนวทางการแก้ไขปัญหา ในขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามนโยบายที่มีทั้งความขัดแย้งและผลประโยชน์แอบแฝงของกลุ่มการเมืองท้องถิ่น (3) ข้อตกลงรวมกันในแนวทางการแก้ปัญหาระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นกับประชาชนเจ้าของปัญหาไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินงานของหน่วยงานท้องถิ่น ถูกครอบงำโดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่ชาวชุมชนอาศัยอยู่ มองผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มตนมากกว่าความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในชุมชน
ผลการวิจัยพบว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นขบวนการที่มุ่งประเด็นอยู่ที่การต่อสู้เพื่อความเป็นพลเมือง สิทธิขั้นพื้นฐานในเชิงของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ค่านิยมความรู้สึกผูกพันมากกว่าที่จะมุ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจรัฐหรือครอบครองอำนาจรัฐ การรวมตัวกันเป็นขบวนการที่มิได้ผ่านระบบการเมืองหรือตัวแทนของประชาชน แต่เป็นขบวนการที่พยายามจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงค่านิยมเดิมๆ โดยการพัฒนาและสร้างสรรค์วิถีชีวิตใหม่ๆ เน้นสัญลักษณ์และความมีตัวตนโดยไม่อิงตัวนักการเมือง/ระบบการเมือง มีการสร้างปทัสถานทางสังคมที่เอื้ออำนวยให้สมาชิกในชุมชนพัฒนาความสำนึกในความซื่อตรงต่อตนเอง และความเป็นตัวของตัวเองเป็นอิสระจากอิทธิพลของผู้อื่น สิ่งที่ถักทอสมาชิกในชุมชนเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนเกิดการก่อตัวและเคลื่อนไหวคือปัญหาการไร้ซึ่งที่ดินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและถูกเอาเปรียบโดยเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุสำคัญของการเกิดขบวนการทางสังคมในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหา พบว่าเกิดจาก (1) ข้อจำกัดด้านการบริหารงานของหน่วยงานท้องถิ่น ผ่านกลไกระบบราชการ ทำให้ปัญหามิได้รับการแก้ไขอย่างลุล่วง ส่งผลให้ชาวชุมชนปรับกระบวนความคิดมาเป็นแบบพึ่งพาตนเอง มีการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันทั้งในชุมชนและนอกชุมชน และ (2) ชาวชุมชนประสบปัญหาคล้ายๆ กัน ลักษณะสภาพแวดล้อมเหมือนกัน เมื่อปัญหารบเร้ามากขึ้นจึงเกิดการรวมตัวกันเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย เพื่อจัดการกับปัญหาร่วมกันแบบพึ่งพา การดำเนินงานและกิจกรรมจะเป็นแบบไม่เน้นระบบราชการในการบริหาร แต่เป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมของสมาชิก

URLhttp://medias.lib.ubu.ac.th/medias/pdf/fulltext1/ethesis/Ratthakit_Hi/abstract.pdf
Title Alternate Characteristics of a local administration's approach to solving public problems: a case study of a highly- populated community in Ubon Ratchathani Municipality
Fulltext: