การเผชิญปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์ของหญิงบริการชาวลาวที่บริเวณชายแดนไทย-ลาว จังหวัดอุบลราชธานี

Titleการเผชิญปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์ของหญิงบริการชาวลาวที่บริเวณชายแดนไทย-ลาว จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2551
Authorsศุภศรัย สง่าวงศ์
Degreeศิลปศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา
Institutionคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHQ ศ729ก
Keywordsการค้าประเวณี--ลาว, อนามัยเจริญพันธุ์--ลาว, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์--ลาว, โรคเอดส์--ลาว
Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาให้ทราบถึงวิธีการเผชิญกับปัญหา ตลอดจนการจัดการและการปรับตัวเพื่อโต้ตอบกับปัญหาด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของหญิงบริการเชื้อชาติลาว โดยนำวิธีการศึกษาเชิงคุณภาพมาใช้เพื่อรวบรวมประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตน การรับรู้ ความเข้าใจและความเชื่อที่เชื่อมโยงกับอนามัยเจริญพันธุ์ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากหญิงบริการชาวลาวซึ่งทำงานอยู่ในร้านคาราโอเกะจำนวน 17 คน ที่สมัครใจเป็นผู้ให้ข้อมูลหลัก ใช้วิธีการสัมภาษณ์ระดับลึก การสังเกตและการสนทนา รวมทั้งใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหาในการบันทึกข้อมูลภาคสนามซึ่งปรากฏผลการศึกษาดังต่อไปนี้
พบว่า อุดมการณ์เรื่องเพศภาวะในสังคมลาวและการมีสถานะผิดกฏหมายในประเทศไทยของหญิงบริการชาวลาว มีบทบาทอย่างมากต่อการเผชิญปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงเหล่านี้วัฒนธรรมเพศภาวะที่ดำรงอยู่ในสังคมชนบทของลาว แม้จะไม่ใช่เป็นปัจจัยทางตรงแต่มีส่วนกระตุ้นให้หญิงสาวชาวลาวเข้าสู่อุตสาหกรรมขายบริการทางเพศ ด้วยเหตุผลเพื่อมีหนทางในการทำหน้าที่ของลูกสาว พี่สาว/น้องสาว หรือแม้กระทั่งทำหน้าที่แม่ที่ดี ในขณะที่ภาพลักษณ์ของการเป็นแรงงานเข้าเมืองผิดกฏหมาย รวมทั้งการเป็นหญิงขายบริการทางเพศ ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ต่างตกอยู่ในสถานะคนชายขอบในสังคมไทย ความหวั่นเกรงว่าจะถูกจับทำให้หญิงชาวลาวต้องอยู่อย่างหลบซ่อน ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญนำมาสู่การถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ การบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ และการทำร้ายร่างกายจากลูกค้าที่มีจิตใจโหดร้าย นอกจากนี้ หญิงสาวเหล่านี้ยังต้องพบกับปัญหาการไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัยของลูกค้าที่มาซื้อบริการ ซึ่งนำมาสู่ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์ การตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการ การทำแท้งไม่ปลอดภัย และปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์อื่น ๆ
ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าการไม่มีความรู้ที่เพียงพอและความรู้ที่ไม่ถูกต้องของหญิงชาวลาวเป็นที่มาของความเปราะบางต่อปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์ของพวกเธอหลายคนมีความเชื่อและวิธีปฏิบัติในการดูแลตัวเองและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แบบผิด ๆ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือการมีสถานะผิดกฏหมายกลายเป็นข้อจำกัดทำให้หญิงสาวเหล่านี้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพและบริการอนามัยเจริญพันธุ์ ถึงแม้จะเผชิญกับปัญหาและข้อจำกัดแต่หญิงสาวชาวลาวเหล่านั้นก็ไม่ได้ยอมจำนนต่อข้อจำกัดต่าง ๆ พวกเธอใช้วิธีตอบโต้ที่หลากหลายเพื่อทำให้สถานการณ์ของตัวเองดีขึ้น เช่น การพยายามสร้างอัตลักษณ์ของหญิงบริการชาวลาวในลักษณะที่มีความอ่านหวาน อ่อนโยน และว่าง่าย เป็นวิธีหนึ่งที่พวกเธอใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกระทำความรุนแรงและการถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์จากลูกค้าบางคน และด้วยการใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้ พวกเธอสามารถต่อรองให้ลูกค้าที่มาซื้อบริการใช้ถุงยางอนามัยได้ นอกจากนี้พวกเธอยังใช้ประโยชน์จากการมีหน้าตา ภาษา และวัฒนธรรมอันคล้ายคลึงกับคนไทยอีสานพลิกสถานการณ์เพื่อเอาตัวรอด และบางครั้งพวกเธอก็ตอบโต้กับการถูกกระทำความรุนแรงอย่างตรงไปตรงมา
โดยสรุปเราต้องตระหนักว่าการพัฒนาโครงการป้องกันปัญหาเอชไอวี/เอดส์ รวมทั้งการจัดบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ให้แก่หญิงบริการชาวลาวในบริเวณชายแดนไทย-ลาว จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับอุดมการณ์เพศภาวะที่หล่อหลอมความเป็นผู้หญิงลาว อีกทั้งต้องใส่ใจกับบริบททางสังคมเศรษฐกิจที่ทำให้หญิงบริการชาวลาวตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์

Title Alternate Lao service women encounter repoductive health problems at the Thai-Lao border in Ubon Ratchathani