เครือญาติข้ามพรมแดนรัฐชาติของกลุ่มชาติพันธุ์บรู บ้านท่าล้ง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

Titleเครือญาติข้ามพรมแดนรัฐชาติของกลุ่มชาติพันธุ์บรู บ้านท่าล้ง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsพนัส ดอกบัว
Degreeศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Institutionคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberGN พ196ค
Keywordsกลุ่มชาติพันธุ์--ความเชื่อ, ชาวบรู--ความเป็นอยู่และประเพณี, บ้านท่าล้ง (อุบลราชธานี), เครือญาติ
Abstract

การวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบความสัมพันธ์ของกลุ่มเครือญาติ การคงอยู่ และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของระบบเครือญาติ ที่ต้องตกอยู่ภายใต้เส้นแบ่งพรมแดนและการเมืองของรัฐชาติที่แตกต่างกันของกลุ่มชาติพันธุ์บรูในหมู่บ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีญาติอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผลการศึกษาพบว่า ระบบเครือญาติของชาวบรู จะยึดถือกันทางสายเลือดที่มีบรรพบุรุษร่วมกันและขยายออกเป็นญาติเกี่ยวดองและแบบสมมุติ โดยเฉพาะในกลุ่มที่รับถือผีประจำฮีตเดียวกันจะมีความใกล้ชิดและเป็นญาติสนิทกัน ต้องเข้าร่วมในพิธีกรรมสำคัญประจำฮีต เช่น งานระปีป ภายหลังการเกิดเส้นแบ่งพรมแดนทางภูมิศาสตร์ของประเทศ เกิดระบบอาณานิคม สงครามอินโดจีน การอุบัติขึ้นของรัฐสมัยใหม่ และสงครามเย็น ทำให้พี่น้องร่วมสายเลือดต้องแยกย้ายกันไปอยู่คนละประเทศ กลายเป็นคนต่างสัญชาติกัน การเดินทางไปมาหาสู่กันยากขึ้น
ต่อมาชาวบรูบ้านท่าล้งได้ส่งคืนฮีตเลิกนับถือผีฮีต หันมานับถือพุทธศาสนา ทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ตั้งแต่ก่อนการคืนฮีต (พ.ศ.2452-2530) ที่เป็นไปตามพิธีกรรมที่สำคัญของฮีตเปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการทำมาหากินเป็นส่วนใหญ่ในช่วงหลังคืนฮีต (พ.ศ.2530 ถึงปัจจุบัน) มีการแลกเปลี่ยนปัจจัยการดำรงชีพ ทั้งปัจจัยสี่ สินค้า แรงงาน เงิน การศึกษา ใช้พื้นที่หาอาหารและทำเกษตรร่วมกัน มีการสร้างเครือข่ายเครือญาติ สนับสนุนการศึกษา หางานทำ ส่งสินค้า อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค และสาธารณสุขข้ามพรมแดน ระหว่างประเทศไทย กับประเทศลาว และกลุ่มเครือญาติในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเครือข่ายที่โยงใยความสัมพันธ์และเกิดกิจกรรมที่หลากหลาย และมีการเดินทางติดต่อกันมากขึ้น โดยการติดต่อสัมพันธ์กันของชาวบรู ได้ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและหลากหลายขึ้น โดยผ่านการตีความและต่อรองบนเส้นพรมแดน ตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมของแต่ละประเทศ ในยามที่ราชการเข้มงวดพรมแดนมีการกำกับด้วยอำนาจรัฐก็จะไม่ข้ามหรือข้ามตามวิธีที่ทางราชการกำหนด ในยามที่พรมแดนไม่มีการกำกับด้วยอำนาจรัฐก็จะเดินทางไปมาหาสู่กันตามปกติ ซึ่งการติดต่อสัมพันธ์เป็นไปเพื่อสนับสนุน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นว่าเส้นพรมแดนทางการปกครองมิอาจกั้นความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติได้ทั้งหมด

Title Alternate Cross-border kindship of Bru ethnic group, Thalong village, Khong Jiam district, Ubon Ratchathani
Fulltext: