กระบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นในการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานส่วนท้องถิ่น

Titleกระบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นในการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานส่วนท้องถิ่น
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2553
Authorsดวงหทัย อินทะชัย
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberJS ด239
Keywordsข้าราชการ--การสอบ, ข้าราชการ--การแต่งตั้ง, พนักงานส่วนท้องถิ่น--การสอบ, พนักงานส่วนท้องถิ่น--การแต่งตั้ง, พนักงานส่วนท้องถิ่น--การแต่งตั้ง--การทุจริต, องค์การบริหารส่วนตำบล--อุบลราชธานี--การทุจริต
Abstract

การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นในการบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนท้องถิ่นและวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นในการบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลที่ละเอียดเป็นจริงมากที่สุด ผลการศึกษาพบว่า กระบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นในการบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนท้องถิ่นรวมถึงรูปแบบและพฤติกรรมตั้งแต่การกินตามน้ำ ทวนน้ำ สมยอมกันทุกฝ่าย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลบางอย่างที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย มีการจ่ายผลประโยชน์รูปตัวเงินเป็นหลัก ทำกันเป็นกระบวนการทั้งระบบจนกลายเป็นประเพณี และเป็นที่รู้กันระหว่างกลุ่มที่ต้องเข้ามาบรรจุแต่งตั้งในหน่วยงานท้องถิ่น และกลุ่มผู้มีอำนาจ (ผู้บริหารท้องถิ่น) ก็ต้องการเรียกรับผลประโยชน์จากการบรรจุแต่งตั้งเช่นเดียวกัน เพราะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเรียกเงินคืนที่สูญเสียไปจากการหาคะแนนเสียงจนได้เป็นผู้บริหารท้องถิ่น ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ามาสู่ตำแหน่งใด ๆ ในหน่วยงานท้องถิ่น ถ้าไม่เสียเงินก็ต้องเป็นญาติ จึงจะพอมีโอกาสในการเข้าทำงานในตำแหน่งที่ตนต้องการ ส่วนระบบอุปถัมภ์เป็นเพียงอำนาจต่อรองให้มีการจ่ายเงินในจำนวนที่น้อยกว่าปกติเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่ากระบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นในการบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนท้องถิ่น มีผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการ 3 ฝ่าย คือ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และพนักงานส่วนท้องถิ่น กระบวนการที่นิยมใช้ คือ มีการเรียกจ่ายเงินในตำแหน่งต่าง ๆ โดยมีนายหน้าซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นญาติของนักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และพนักงานส่วนท้องถิ่น เป็นตัวแทนในการเข้าไปตกลงกับผู้ที่ต้องการบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นโดยมีการจ่ายเงินเพื่อให้ได้บรรจุในตำแหน่งนั้น ๆ หลักแสนขึ้นไป ผลการศึกษา พบว่าสาเหตุสำคัญในการทุจริตคอร์รัปชั่นการบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการรู้เห็นเป็นใจทั้งฝ่ายทั้งนักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น พนักงานส่วนท้องถิ่น รายรับจากการรับราชการไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และความบกพร่องของระบบบริหารราชการ เกิดจากการที่กฎหมายให้อำนาจผู้บริหารในการใช้ดุลพินิจมากเกินไป รวมถึงกฎหมาย ระเบียบแบบแผน ข้อบังคับกันอย่างจริงจัง การบริหารงานขาดความโปร่งใส ประกอบกับผู้ต้องการที่จะได้รับการบรรจุแต่งตั้งมีความเชื่อและศรัทธาในอาชีพรับราชการ ต้องการได้มาซึ่งเกียรติยศ ศักดิ์ศรีสังคมและอาชีพที่มั่งคง จึงพร้อมที่จะหยิบยื่นผลประโยชน์ให้แก่ผู้บริหารท้องถิ่นรวมถึงการใช้ระบบอุปถัมภ์เป็นสะพานเชื่อมโยงเข้าไปสู่ตำแหน่งที่ต้องการ จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมการรอรับความช่วยเหลือ เกิดค่านิยมในการยกย่องผู้มีอำนาจหรือผู้มีเงิน และยังพบอีกว่าการสอบบรรจุเพื่อเข้ารับราชการในหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ มีน้อย และบางคนทำงานในบริษัทเอกชนที่ไม่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจก็ต้องการสอบบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น แต่หน่วยงานรับได้ในจำนวนจำกัดจึงเกิดการแข่งขันแย่งชิงตำแหน่งต่าง ๆ เกิดขึ้น นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งการที่กฎหมายเปิดช่องให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจที่จะบรรจุแต่งตั้งหรือไม่บรรจุแต่งตั้งได้ ซึ่งผู้มีอำนาจดังกล่าวมาจากการเลือกตั้งที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการเข้าสู่ตำแหน่งจึงได้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองในการถอนทุนคืนก่อนหมดวาระทั้งนี้ก็เนื่องมาจากอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลของภาคประชาชนในพื้นที่อ่อนแอขาดความเป็นเอกภาพนั่นเอง

Title Alternate Corruption in the apointment of local officers
Fulltext: