ความพร้อมของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม : กรณีศึกษา กลุ่มเสรีชน จังหวัดอุบลราชธานี

Titleความพร้อมของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม : กรณีศึกษา กลุ่มเสรีชน จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2554
Authorsวรวรรณ ทาระธรรม
Degreeรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHM ว276
Keywordsการเปลี่ยนแปลงทางสังคม--อุบลราชธานี, ขบวนการสังคม--อุบลราชธานี
Abstract

การศึกษาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาถึงความพร้อมและโครงสร้าง โอกาสทางการเมืองของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม กรณีศึกษา กลุ่มเสรีชุน จังหวัดอุบลราชธานี ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการดำเนินงานของกลุ่มเสรีชน จังหวัดอุบลราชธานี ไม่มีโครงสร้างที่ระบุตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิก การดำเนินงานจะมีแกนนำ 5 คนที่จะคอยติดตามประสานงานและกระจายข่าวสารสู่สมาชิก โดยมีแกนหลักประสานงาน คือ คุณรัตนา ผุนพรม เป็นศูนย์กลางของข่าวสารและความกระตือรือร้นในการพามวลชนสู่การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งการปฏิบัติงานจริง สมาชิกในกลุ่มสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและดำเนินงานได้อย่างเท่าเทียม ใครถนัดด้านใดก็ทำสิ่งนั้น สมาชิกที่เป็นชายก็รับผิดชอบเรื่องการทำป้าย ยกของ ขับรถ ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร สมาชิกที่เป็นหญิงรับผิดชอบเรื่องการติดต่อประสานงาน การทำโรงทาน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ สมาชิกกลุ่มประกอบด้วย มวลชนที่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวในกลุ่มชักธงรบ มวลชนที่มาด้วยตนเอง มวลชนที่มาจากการชักชวนของเพื่อน แรงจูงใจที่ทำให้สมาชิกเข้ามาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มเสรีชนอุบล คือ ภาพความต่อเนื่องในการเข้าร่วมกิจกรรม สมาชิกกลุ่มมีความเป็นกันเอง มีปัญหาก็พูดคุยกัน ทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด แม้ในช่วงที่ไม่มีการเคลื่อนไหวสมาชิกก็ไปมาหาสู่กันที่ศูนย์ประสานงานของกลุ่ม คือ ร้านอุดมแอร์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เครือข่ายการสื่อสานของกลุ่มเริ่มต้นจากเพื่อนที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกันในกลุ่มชักธงรบ การบอกปากต่อปาก การติดตามข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ การประสานขอระดมทุนจากห้างร้าน และการร่วมขับเคลื่อนกับพี่น้องเสื้อแดงทั้งในและนอกพื้นที่โดยแสดงออกผ่านเหตุการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดปัจจัยเกื้อหนุนทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูล การเชื่อมโยงกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อการประสานงานและการระดมมวลชนสู่การขับเคลื่อนอย่างมีรูปธรรม อุปสรรคของกลุ่มเสรีชนอุบล จากฝ่ายตรงข้ามโดยมีการปล่อยข่าวลือว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุมของมวลชนเสื้อแดงและภาครัฐ มีการสั่งการให้ปิดเส้นทางเพื่อสกัดกั้นการมาร่วมชุมนุมของพี่น้องเสื้อแดง ด้านยุทธวิธีการเคลื่อนไหวที่กลุ่มเสรีชนอุบลเลือกใช้ประกอบไปด้วย การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองกับกลุ่มอื่น การเดินขบวน การนั่งประท้วง การปิดถนน ปิดสถานที่ราชการ ด้านโครงสร้างโอกาสทางการเมือง กลุ่มเสรีชนอุบลได้รับการสนับสนุนทุนจากนักการเมืองในท้องถิ่น
จากการศึกษาความพร้อมของกลุ่มเสรีชน อุบลราชธานี ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะ คือ ควรมีการกำหนดโครงสร้างและจัดทำแผนผังการรับผิดชอบของสมาชิกในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ครอบคลุมการปฏิบัติงานทุกขั้นตอนและกระชับเวลายิ่งขึ้น รวมทั้งข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป ควรมีการศึกษาถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสรีชนอุบลกับกลุ่มทางสังคมอื่น ด้านความสัมพันธ์ ความเกี่ยวโยงที่มีต่อกัน เพื่อทราบถึงขอบข่ายของการมีส่วนร่วมและแนวโน้มพัฒนาการของกลุ่มเสรีชน อุบลราชธานี

Title Alternate Readiness of social movement: a case study of Serichon group, Ubon Ratchathani province
Fulltext: