ผลของการใช้ปุ๋ยเคมีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตข้าวโพนงาม 5 ในสภาพดินนาทางภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Titleผลของการใช้ปุ๋ยเคมีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตข้าวโพนงาม 5 ในสภาพดินนาทางภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2555
Authorsอินแปง ดวงวงสา
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSB อ745ผ
Keywordsข้าว--การปลูก--ลาว, ข้าว--การเจริญเติบโต, ข้าว--พันธุ์ข้าวโพนงาม 5--การผลิต, ข้าว--พันธุ์ข้าวโพนงาม 5--คุณภาพ, ข้าว--พันธุ์ข้าวโพนงาม 5--ดิน--ลาว, ข้าว--พันธุ์ข้าวโพนงาม 5--ปุ๋ย
Abstract

ข้าวโพนงาม 5 เป็นข้าวพันธุ์ปรับปรุงที่ได้รับการสนับสนุนจากทางราชการส่งเสริมให้ปลูกในเขตภาคกลาง และภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเฉพาะส่งเสริมให้ปลูกในแขวงจำปาสัก แต่การผลิตตามวิธีของเกษตรกรลาวเปรียบเทียบกับวิธีการที่ส่วนราชการแนะนำยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงผลของการเจริญเติบโต และผลผลิตที่เหมาะสมกับการลงทุนของเกษตรกรลาว ดังนั้น การทดลองนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราปุ๋ยเคมีที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตข้าวโพนงาม 5 และเพื่อศึกษาลักษณะการดูดใช้ และการสะสมปริมาณธาตุอาหารในต้นข้าวโพนงาม 5 ที่ปลูกในสภาพดินนาทางภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำการทดลองที่สถานีวิจัยและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพนงาม บ้านโพนงาม เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฤดูนาปีระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงพฤศจิกายน 2554 ใช้แบบแผนการทดลองสุ่มสมบูรณ์ในบล็อก (Randomized Complete Block Design) ซึ่งมีทั้งหมดสี่ตำรับการทดลองประกอบด้วย 1) ไม่ใส่ปุ๋ยเป็นชุดควบคุม (T1) 2) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตรา 8 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 ในอัตรา 8 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นวิธีเกษตรกรนิยมปฏิบัติ (T2) 3)ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 ในอัตรา 9.5 กิโลกรัมต่อไร่ (T3) 4) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตรา 32 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 ในอัตรา 11 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งเป็นวิธีทางราชการแนะนำ (T4) และมีจำนวนสามซ้ำ ส่วนการเขตกรรมอื่น ๆ ปฏิบัติเหมือนกันทุกตำรับการทดลอง ผลการทดลองพบว่า T3 ทำให้การเจริญเติบโตของข้าวโพนงาม 5 เช่น การสร้างน้ำหนักแห้งต่อกอ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสำหรับผลผลิต และองค์ประกอบผลผลิต พบว่า T3 ทำให้ข้าวโพนงาม 5 สร้างองค์ประกอบผลผลิต คือ จำนวนรวงต่อกอเปอร์เซ็นต์เมล็ดดีต่อรวง น้ำหนัก 1000 เมล็ด และดัชนีเก็บเกี่ยวสูงกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีในตำรับทดลองอื่น ๆ ทำให้ T3 สร้างผลผลิตสูงสุด 644 กิโลกรัมต่อไร่ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากตำรับทดลองอื่น ๆ
ในขณะที่การดูดใช้ (uptake) ปริมาณธาตุอาหารในระยะแตกกอสูงสุด พบว่า T3 ทำให้การดูดใช้ปริมาณ N P และ K ในใบ ต้น และรากของข้าวโพนงาม 5 สูงกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีในตำรับทดลองอื่น ๆ แต่ในระยะเก็บเกี่ยวพบว่า T4 ทำให้การดูดซับใช้ปริมาณ N P และ K ในใบ และต้นของข้าวโพนงาม 5 สูงกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีในตำรับทดลองอื่น ๆ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับการสะสมปริมาณธาตุอาหารในต้นข้าวโพนงาม 5 ระยะแตกกอสูงสุด พบว่า T3 ทำให้การสะสมปริมาณ N ในใบ และต้น P ในใบ และ K ในใบ และรากของข้าวโพนงาม 5 สูงกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีในตำรับทดลองอื่น ๆ แต่ T4 ทำให้การสะสมปริมาณ P และ K ในต้นของข้าวโพนงาม 5 สูงกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีในตำรับทดลองอื่น ๆ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ในระยะเก็บเกี่ยว พบว่า T4 ทำให้การสะสมปริมาณ N P และ K ในใบและต้นของข้าวโพนงาม 5 สูงกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีในตำรับทดลองอื่น ๆ ส่วนการสะสมปริมาณ N P และ K ในแกลบและข้าวสารของข้าวโพนงาม 5 พบว่า T3 สูงกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีในตำรับทดลองอื่น ๆ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

Title Alternate Effects of chemical fertilizer use on Khao Phonengam 5's growth and grain yield of paddy soil in the Southern Lao People's Democratic Republic
Fulltext: