การกระจายอำนาจ : ศึกษากรณีการถ่ายโอนการศึกษาขั้นพื้นฐานไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

Titleการกระจายอำนาจ : ศึกษากรณีการถ่ายโอนการศึกษาขั้นพื้นฐานไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2553
Authorsณัชพล นิลนพคุณ
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberLB ณ261
Keywordsการถ่ายโอนสถานศึกษา, การปกครองท้องถิ่น--การบริหาร, การศึกษาขั้นพื้นฐาน--การบริหาร, โรงเรียน--การกระจายอำนาจ
Abstract

งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการถ่ายโอนการศึกษาขั้นพื้นฐานจากกระทรวงศึกษาธิการไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเมื่อเริ่มมีการปฏิบัติตามนโยบายการถ่ายโอนการศึกษาก็มีการต่อต้านจากองค์กรครูทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูประถมศึกษา นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการทางการศึกษาและนักการเมืองบางส่วนออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านการถ่ายโอน เพื่อให้การถ่ายโดนการศึกษาดำเนินไปตามแผนที่กำหนดไว้ จึงมีกรอบการศึกษาในงานวิจัย 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การเมืองในนโยบายการถ่ายโอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) การแก้ปัญหาการถ่ายโอนการศึกษา และ 3) ทิศทางและผลกระทบของปัญหาการถ่ายโอน
ในการวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยประเภทพรรณนาและแปลความ สำหรับการรวบรวมข้อมูล เพื่อการวิจัยใช้วิธีการวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า การผลักดันนโยบายการถ่ายโอนการศึกษาสามารถดำเนินการได้ในด้านกระบวนการ คือ มีการถ่ายโดนตามแผนที่กำหนดไว้ แต่จำนวนสถานศึกษาที่รับการถ่ายโอนประสงความล้มเหลว เพราะสามารถดำเนินการถ่ายโอนได้เพียงประมาณร้อยละ 1.16 จากโรงเรียนทั้งหมดประมาณ 32,340 โรง และรัฐบาลยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการถ่ายโอนให้ครบทุกโรงเรียนเมื่อใด และพบว่าการต่อต้านขององค์กรครูทำให้เกิดผลกระทบตามมา 5 ประการ ได้แก่ 1) ทำให้รัฐบาลต้องมีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การถ่ายโอนหลายครั้ง และต้องนำวิธีการสมัครใจมาใช้เป็นหลักการสำคัญในการถ่ายโอน 2) การดำเนินการถ่ายโอนไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ 3) องค์กรครูมีแนวความคิดในการถ่ายโอนออกเป็นสองขั้ว คือ ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้มีการถ่ายโอนทุกกรณี แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับการถ่ายโอนโดยเงื่อนไขความสมัครใจ 4) ความเคลื่อนไหวของครูมัธยมที่สังกัดกรมสามัญศึกษาเดิม มีความเห็นแยกออกเป็นฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งต้องการถ่ายโอนไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดและอีกฝ่ายหนึ่งต้องการแยกตัวออกจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปตั้งเป็นสำนักงานมัธยมศึกษาจังหวัด และ 5) ทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดการถ่ายโอนการศึกษาระหว่างข้าราชการครูกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งผลกระทบจากการต่อต้านการถ่ายโอน ส่งผลต่อการปฏิรูประบบราชการของรัฐ และคุณภาพการจัดการศึกษาของรัฐตามมา
ข้อพิจารณาในการถ่ายโอนการศึกษาจะต้องคำนึงปัจจัยต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อความสำเร็จในการถ่ายโอนการศึกษา ได้แก่ ต้องระมัดระวังปัญหาการแทรกแซงการเมืองและนโยบายที่ชัดเจนของฝ่ายการเมือง ความพร้อมการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันจะส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษา รวมทั้งปัญหาเรื่องเอกภาพของการศึกษาชาติ ดังนั้น รัฐควรต้องมีนโยบายการจัดการศึกษาที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางหลักในการจัดการศึกษาระยะยาว อันที่ส่งผลต่อคุณภาพของประชากรของชาติ การที่นโยบายการถ่ายโอนการศึกษาอยู่ในสภาวะชะงักงันอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลควรจะพิจารณาถึงสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ กระบวนการกระจายอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน ในภาพรวมยังไม่สามารถกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็นเรื่องยากที่จะถ่ายโอนการศึกษาขั้นพื้นฐานไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะประสบความสำเร็จ

Title Alternate Decentralization: a case study of basic education devolution form ministry of education to local administrative organizations
Fulltext: