Title | เครือข่ายยุติธรรมชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2553 |
Authors | ประเวช จันทร์ฉาย |
Degree | รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์) |
Institution | คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | HV ป383 |
Keywords | กระบวนการยุติธรรม--อุบลราชธานี--การมีส่วนร่วมของประชาชน, ความช่วยเหลือทางกฎหมาย, ยุติธรรมชุมชน |
Abstract | การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชน ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและความรู้ความเข้าใจของคณะกรรมการเครือข่ายยุติธรรมชุมชน พร้อมทั้งหาปัจจัยส่วนบุคคลของคณะกรรมการเครือข่ายยุติธรรมชุมชนที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความรู้ ความเข้าใจเรื่องยุติธรรมชุมชนของคณะกรรมการเครือข่ายยุติธรรมชุมชน และศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการดำเนินงานของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน ทั้ง 3 ประเด็น การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ เสริมด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ ประชากรที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณ คือ คณะกรรมการเครือข่ายศูนย์ยุติธรรมชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี 11 ศูนย์ จำนวน 143 คน และประชากรที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ คือ คณะกรรมการและผู้ประสานงานเครือข่ายยุติธรรมชุมชนตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 26 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ t-test, F-test และการวิเคราะห์สัมประสิทธิสหสัมพันธ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นแบบสัมภาษณ์ โดยการสัมภาษณ์รายบุคคลเชิงลึก และการสนทนากลุ่มย่อย วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ผลการวิจัย พบว่า
1)การดำเนินงานของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน ซึ่งกลุ่มประชากรเห็นด้วยกับการที่คณะกรรมการเครือข่ายยุติธรรมชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจ ในการดำเนินงานของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน (mean=3.98) มากที่สุด โดยที่คณะกรรมการส่วนใหญ่มีความรู้ ความเข้าใจในบทบาท หรือหน้าที่ของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน และทราบบทบาทหน้าที่ของตนเองค่อนข้างชัดเจน ซึ่งบทบาทที่ไม่ชัดเจน ได้แก่ รูปแบบการดำเนินการเพื่อยุติปัญหาของคนในชุมชน และขาดการวางแผนรองรับหลังจากการเข้าสู่ไกล่เกลี่ยทั้งคู่
2)ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มประชากรเห็นด้วยกับการได้รับความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (mean=3.91) ในการดำเนินงานของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการก่อตั้ง และการดำเนินงานของเครือข่ายศูนย์ยุติธรรมชุมชนเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของศูนย์ยุติธรรมชุมชนไม่สามารถเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านเครือข่ายบางคนมีทักษะในการดำเนินงานและประสบการณ์งานด้านชุมชนไม่เพียงพอ
3.การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งกลุ่มประชากรเห็นด้วยกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน (mean=3.89) โดยที่ประชาชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน ไม่ว่าจะเป็นในการก่อตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนประชาชนมีโอกาสในการนำเสนอความต้องการกิจกรรมโครงการที่ชุมชนต้องการแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาชุมชนมากที่สุด แต่ประชาชนในชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมไกล่เกลี่ย มีความรู้ในด้านกฎหมายไม่ชัดเจน
4)การดำเนินงานของคณะกรรมการเครือข่ายยุติธรรมชุมชน ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วมของประชาชน มีความสัมพันธ์กันอย่างนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
5)ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน ได้แก่ พื้นที่รับผิดชอบของเครือข่ายยุติธรรมชุมชนแต่ละศูนย์ เพศ อาชีพ และตำแหน่งทางสังคม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
6.ปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินงานของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน คือ ขาดงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน, เจ้าหน้าที่/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของเครือข่ายยุติธรรมชุมชนยังไม่สามารถเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง และขาดรูปแบบการจัดการความขัดแย้งอย่างชัดเจน
7.แนวทางการพัฒนาเครือข่ายยุติธรรมชุมชน
7.1ควรมีการกำหนดโครงสร้างบทบาทหน้าที่ วิธีการดำเนินที่ชัดเจนยิ่งขึ้นให้สอดคล้องและถูกต้องตามกฎหมายด้วยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่าย
7.2การดำเนินการด้วยตัวของชุมชนเองของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน หน่วยงานอื่น ๆ ควรเป็นเพียงพี่เลี้ยงให้คำแนะนำทางวิชาการที่ถูกต้องเท่านั้น
7.3การศึกษาดูงาน หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้คณะกรรมการและผู้ประสานงานทุกฝ่ายมีความเข้าใจ และสามารถมองเห็นภาพการดำเนินงานได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ควรที่จะได้รับการสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
7.4ควรจัดเจ้าหน้าที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนในชุมชนทราบถึงบทบาทหน้าที่และประโยชน์ ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม
7.5สร้างกรอบของการปฏิบัติงานของเครือข่ายให้มีความชัดเจน โดยมีประชาชนเป็นเป้าหมายในการดำเนินงาน สิ่งที่บุคลากรในหน่วยงานของรัฐที่ทำงานยุติธรรมชุมชนต้องเรียนรู้ให้มากยิ่งขึ้น ทำความรู้จักกับชุมชนอย่างถ่องแท้ และทำงานร่วมกับชุมชนภายใต้บริบทของชุมชนนั้น ๆ
|
Title Alternate | Community justice network in Ubon Ratchathani province |