ตัวแบบการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เชิงนโยบาย

Titleตัวแบบการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เชิงนโยบาย
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2553
Authorsสมภพ โคตรวงษ์
Degreeรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberS ส271
Keywordsการพัฒนาเกษตรอินทรีย์, เกษตรกรรม, เกษตรอินทรีย์
Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ถึงปัจจัยความสำเร็จและล้มเหลวของการดำเนินนโยบายเกษตรอินทรีย์ และทำการพัฒนาตัวแบบนโยบายเกษตรอินทรีย์สำหรับประเทศไทยที่ทำให้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยประสบความสำเร็จ
วิธีการศึกษาใช้การพรรณนาและวิเคราะห์จากข้อมูลซึ่งรวบรวมจากเอกสารชั้นต้นเอกสารรองและข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง สำหรับการวิเคราะห์แบ่งการวิเคราะห์เป็น 2 ส่วน ได้แก่
1)การวิเคราะห์เพื่อศึกษาปัจจัยความสำเร็จและความล้มเหลวของการดำเนินนโยบายเกษตรอินทรีย์ โดยทำการวิเคราะห์และประเมินนโยบายเกษตรอินทรีย์ และการวิเคราะห์นโยบายเกษตรอินทรีย์เปรียบเทียบ
2)การวิเคราะห์เพื่อพัฒนาตัวแบบนโยบายการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยทำการวิเคราะห์ SWOT การวิเคราะห์ทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาตัวแบบการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ทั้งของไทยและต่างประเทศ
การศึกษาวิเคราะห์ ปัจจัยความสำเร็จและความล้มเหลวของการดำเนินนโยบายเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านมา พบว่า (1) การดำเนินนโยบายต้องมีการร่วมกันพิจารณาจากหลาย ๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดนโยบายให้ไปในทิศทางเดียวกันให้ชัดเจน (2) การสนับสนุนส่งเสริมและผลักดันนโยบายอย่างต่อเนื่องและไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง (3) การนำนโยบายไปปฏิบัติจะต้องมีการร่วมมือกันของหน่วยงานต่าง ๆ จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความมั่นใจ และจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมากกว่าในปัจจุบัน (4) ในทุกขั้นตอนตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภคจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม สนับสนุนอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนนับตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การจัดสรรพื้นที่ การจัดหาแหล่งน้ำ การอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร การจัดหาพันธุ์พืชและสัตว์ การปรับปรุงพันธุ์ การวิจัยและการพัฒนาระบบและกระบวนการผลิต ราคาที่เหมาะสมและผลผลิตที่ได้มาตรฐาน การรวมกลุ่มกันเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมไปถึงการรวมกลุ่มของผู้บริโภค (5) การส่งเสริมการผลิตนักวิชาการ นักวิจัย และเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์
ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้เสนอตัวแบบการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เชิงนโยบาย ด้วยตัวแบบ 4P&D (4P&D Model) โดยมีองค์ประกอบของตัวแบบ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) นโยบาย (Policy) (2) ผู้ผลิต (Producer) (3) องค์กรภาคเอกชน (Private Organization) (4) กระบวนการผลิต (Process) และ (5) ผู้บริโภค (Demand) โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้เป็นรูปแบบเกษตรหลักของประเทศไทย
นอกจากนั้น เพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไปสู่ความยั่งยืนจึงได้นำเสนอตัวแบบบูรณาการนโยบายเกษตรอินทรีย์และการสนับสนุนของนโยบายด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในด้าน (1) การพัฒนาพื้นที่เกษตร (2) การวิจัยและพัฒนา (3) การตลาดและการประชาสัมพันธ์ และ (4) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์
นอกจากนี้แล้วในการนำนโยบายเกษตรอินทรีย์ไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จนั้นยังต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมต่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนในอนาคต อีกด้วย

Title Alternate Organic agriculture development policy model
Fulltext: