การนำนโยบายผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายของไทยไปปฏิบัติ : กรณีศึกษามลพิษทางน้ำ

Titleการนำนโยบายผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายของไทยไปปฏิบัติ : กรณีศึกษามลพิษทางน้ำ
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2553
Authorsศุภพร ภู่เกษมวรางกูร
Degreeรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTD ศ679
Keywordsการนำนโยบายไปปฏิบัติ, ผู้ก่อมลพิษ, มลพิษทางน้ำ
Abstract

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมตามลำดับขั้น (Sequential mixed methods) ซึ่งศึกษาทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการนำนโยบายบำบัดน้ำเสียตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายไปปฏิบัติในประเทศไทย โดยสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม 35 คน และทำการวิจัยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 337 คน ซึ่งจำแนกเป็น 3 กลุ่ม (1) กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ได้แก่ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการการกระจายอำนาจ และองค์การจัดการน้ำเสีย (2) กลุ่มผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ ได้แก่ องค์กรปกครองท้องถิ่น และ (3) กลุ่มผู้รับบริการ ได้แก่ โรงงาน โรงแรมและสถานบริการอื่น การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพกระทำโดยการใช้ตารางจัดกลุ่มและแจงนับ ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณกระทำโดยใช้สถิติพรรณนาและสถิติวิเคราะห์ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) และการวิเคราะห์ถดถอยพหุ (multiple regression)
ผลการวิจัยสรุปได้ว่าผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่านโยบายบำบัดน้ำเสียตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายมีความสมเหตุสมผลและมีทฤษฎีรองรับเพียงพอ แต่เห็นว่าผลลัพธ์ของนโยบายล้มเหลว เพราะไม่สามารถเก็บค่าบำบัดน้ำเสียได้ตามวัตถุประสงค์ จึงไม่ก่อให้ผลต่อการปรับปรุงกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ สาเหตุที่เก็บค่าบำบัดน้ำเสียไม่ได้เพราะองค์กรปกครองท้องถิ่นกลัวเสียคะแนนและไม่มีแนวทางและมาตรการบังคับ ผู้เกี่ยวข้องไม่เข้าใจและประชาชนไม่ทราบข้อมูลและไม่มีส่วนร่วม ส่วนความขัดแย้งในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมมีทั้งด้านการปฏิบัติในท้องถิ่น และความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นว่าองค์กรปกครองท้องถิ่น ไม่ยอมรับนโยบายเพราะเห็นว่าไม่ได้ประโยชน์และมีปัญหาด้านการปฏิบัติการ ได้แก่ ปัญหาด้านค่าใช้จ่าย บุคลากร เทคนิคและการประกอบการ
ส่วนข้อมูลความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ก็สอดคล้องกันกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ก็เห็นว่านโยบายมีความสำเร็จค่อนข้างต่ำ เพราะไม่สามารถสร้างระบบบำบัดน้ำเสียให้ได้ตามเป้าหมาย มีคุณภาพและเปิดใช้บริการได้ ประเด็นที่มีปัญหามากที่สุด คือ การเก็บเงินค่าบำบัดน้ำเสียและจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับปรุงกระบวนการผลิต อีกทั้งยังเห็นว่า ความล้มเหลวนี้มีมาตั้งแต่ขั้นการกำหนดนโยบายแล้ว นโยบายการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียนี้จึงเป็นการทำตามหน้าที่มากกว่ามุ่งหวังว่าจะเกิดความสำเร็จจริง ส่วนเรื่องความขัดแย้ง กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ามีความขัดแย้งตั้งแต่ขั้นกำหนดนโยบายโดยมีการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวมาตั้งแต่แรกและผลประโยชน์ไม่ลงตัว
ประเด็นที่กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นแตกต่างจากผู้เชี่ยวชาญมีเพียงประเด็นเดียว คือ กลุ่มตัวอย่างเห็นว่านโยบายนี้มีทฤษฎีรองรับค่อนข้างต่ำ แต่ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่านโยบายนี้มีทฤษฎีรองรับเพียงพอ
ผู้วิจัยได้นำปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่อผลลัพธ์ของการนำนโยบายไปปฏิบัติมาทดสอบ พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อผลลัพธ์ของการนำนโยบายไปปฏิบัติมี 4 ปัจจัย ได้แก่ (1) ความเข้าใจวัตถุประสงค์ของนโยบายของกลุ่มผู้รับบริการ (2) แรงจูงใจให้องค์การที่นำนโยบายไปปฏิบัติทำตาม (3) การได้รับผลประโยชน์จากนโยบายของกลุ่มผู้รับประโยชน์จากนโยบายของกลุ่มผู้รับบริการ และ (4) การมีทรัพยากรเพียงพอให้ผู้ปฏิบัติทำตาม
สำหรับข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการนำนโยบายการบำบัดน้ำเสียตามหลักการผู้ก่อมลพิษไปปฏิบัตินั้น สรุปได้ว่าควรสร้างช่องทางให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น ประชาสัมพันธ์นโยบายผ่านเครือข่ายในท้องถิ่น เร่งสร้างการยอมรับให้กับหน่วยปฏิบัติและผู้รับบริการ เช่น การปลูกฝังอุดมการณ์เรื่องสิ่งแวดล้อมและจัดการเรียนรู้ หาทางให้องค์กรปกครองท้องถิ่นและผู้รับบริการได้ประโยชน์ หาวิธีการเก็บค่าบำบัดน้ำเสียให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสภาพการณ์สนับสนุนงบประมาณ การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีให้กับท้องถิ่น ระยะต้นอาจต้องจ้างมืออาชีพเข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุนองค์กรท้องถิ่นหาสิ่งจูงใจให้กับผู้ปฏิบัติ

Title Alternate Policy implementation of polluter pays principle in Thailand: a case study of water pollution
Fulltext: