ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดอุบลราชธานี

Titleปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2553
Authorsถนอม คะตะวงศ์
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRA ถ131
Keywordsบริการสาธารณสุข--อุบลราชธานี, ประกันสุขภาพ--อุบลราชธานี, องค์การบริหารส่วนตำบล--อุบลราชธานี, โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า--อุบลราชธานี
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดอุบลราชธานี การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณเสริมด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ ประชากรของการวิจัยประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ขนาดตัวอย่างมีจำนวน 609 คน ตัวแปรที่ทำการศึกษาประกอบด้วยตัวแปรอิสระ คือ ลักษณะส่วนบุคคล และปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบล มี 5 ปัจจัย คือ 1) ปัจจัยด้านความชัดเจนของนโยบาย 2) ปัจจัยด้านทรัพยากรองค์กร 3) ปัจจัยด้านสมรรถนะของหน่วยงานที่ปฏิบัติ 4) ปัจจัยด้านการได้รับความร่วมมือจากประชาชน 5) ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและกลุ่มเป้าหมายประชาชนผู้รับบริการ ส่วนตัวแปรตามคือ ผลการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าความถี่และค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test F-test Pearson?s Correlation และ Multiple Regression
ผลการวิจัยสรุปได้ 6 ประเด็น ดังต่อไปนี้
1)ผลการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบลอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีผลการดำเนินการมากที่สุดคือ หน่วยงานมีผลการดำเนินงานการเยี่ยมกลุ่มผู้ด้อยโอกาส รองลงมาคือ หน่วยงานมีผลการดำเนินงานการเยี่ยมกลุ่มเป้าหมายตามพื้นที่ และหน่วยงานมีผลการดำเนินงานการตรวจสุขภาพของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป
2) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบลมากที่สุด คือ ปัจจัยด้านความชัดเจนของนโยบาย รองลงมา คือ ปัจจัยด้านสมรรถนะของหน่วยงานที่ปฏิบัติ และปัจจัยด้านการได้รับความร่วมมือจากประชาชน
3)ความสัมพันธ์ปัจจัยส่วนบุคคลกับผลการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบล พบว่า เพศ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา และรายได้เฉลี่ย มีความสัมพันธ์กับผลการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
4)ความสัมพันธ์ปัจจัยส่วนบุคคลกับปัจจัยที่มีผลต่อการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.05 ด้านความชัดเจนของนโยบาย ได้แก่ เพศ อายุ ตำแหน่ง ระดับการศึกษา รายได้ และระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ด้านทรัพยากรองค์กร ได้แก่ อายุ ตำแหน่ง รายได้ และขนาดขององค์การบริหารที่สำคัญ ด้านสมรรถนะของหน่วยปฏิบัติ ได้แก่ สถานภาพสมรส ตำแหน่ง รายได้ และระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ด้านการได้รับความร่วมมือจากประชาชน พบว่าเพศ สถานภาพสมรส ตำแหน่ง รายได้ และระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ด้านสภาพแวดล้อมและกลุ่มเป้าหมายประชาชนผู้รับบริการ พบว่า สถานภาพสมรส และตำแหน่ง
5) ตัวแปรอิสระที่มีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 มีจำนวน 5 ตัวแปร คือ ความชัดเจนของนโยบาย (X1)(r=0.260) ทรัพยากรองค์กร (X2) (r=0.159) สมรรถนะของหน่วยงานที่ปฏิบัติ (X3) (r=0.416) การได้รับความร่วมมือจากประชาชน (X4) (r=0.548) และสภาพแวดล้อมและกลุ่มเป้าหมายประชาชนผู้รับบริการ (X5) (r=0.536)
6)ปัจจัยที่มีน้ำหนักในการอธิบายผลการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยพิจารณาจากค่า ? อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 เรียงลำดับความสำคัญได้แก่ 1)ด้านการได้รับความร่วมมือจากประชาชน (X4) 2)ด้านสภาพแวดล้อมและกลุ่มเป้าหมายประชาชนผู้รับบริการ (X5) 3)ด้านทรัพยากรองค์กร (X2) 4)ด้านสมรรถนะของหน่วยงานที่ปฏิบัติ (X3) สามารถร่วมกันอธิบาย ผลการนำนโยบาย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนตำบล ได้ร้อยละ 38.7 (R2=0.387) มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณเท่ากับ 0.622

Title Alternate Factors related to the implementation of universal health care coverage policy in Ubon Ratchathani provincial sub-district administration organizations
Fulltext: