Title | ศักยภาพของสมุนไพรไทยและสารสกัดสมุนไพรในการใช้แทนยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อ Streptococcus agalactiae และ Aeromonas hydrophila ในปลานิล (Oreochromis niloticus Linn.) |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2555 |
Authors | อดิเทพชัยย์การณ์ ภาชนะวรรณ |
Degree | ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ) |
Institution | คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | SH อ125 |
Keywords | ปลานิล--โรค, พืชสมุนไพร--การใช้ประโยชน์, พืชสมุนไพร--การใช้เป็นอาหารสัตว์, สเตรปโตค็อกคัส, โรคติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส |
Abstract | การใช้ยาปฏิชีวนะในการควบคุมโรคปลา โดยเกษตรกรอย่างไม่ระมัดระวังมักก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อก่อโรค การปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อมและการตกค้างของยาปฏิชีวนะในตัวปลา เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามในการหาสารชนิดอื่นมาใช้แทนยาปฏิชีวนะในการควบคุมโรคปลา โดยสมุนไพรเป็นสารที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากความปลอดภัย และหาง่าย ในการศึกษานี้มีวัตถุประวงค์เพื่อทดสอบความสามารถของสมุนไพรในการยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคปลา 2 ชนิด คือ Streptococcus agalactiae และ Aeromonas hydrophila ทั้งในหลอดทดลองและในตัวปลา สำหรับการทดสอบกับ S.agalactiae ได้นำสมุนไพรทั้งหมด 14 ชนิด ได้แก่ บอระเพ็ด บัวบก ฝรั่ง ฟ้าทะลายโจร กะเม็ง ขมิ้นชัน กระเทียม ลูกใต้ใบ มังคุด มะระขี้นก น้ำนมราชสีห์ พริกขี้หนู ส้มเขียวหวาน และทับทิม มาทำการสกัดด้วยตัวทำละลาย 5 ชนิด คือ เฮกเซน เมทานอล เอทานอลเข้มข้นร้อยละ 95 เอทิลอะซิเตท และน้ำกลั่น จากนั้นนำสารสกัดดังกล่าวไปตรวจสอบความสามารถในการยับยั้งการเจริญของ S.agalactiae โดยวิธี swab paper disc และหาค่าความเข้มข้นที่น้อยที่สุด (minimal inhibitory concentration, MIC) ในการยับยั้ง S.agalactiae จากผลการทดลองพบว่า สารสกัดด้วยเมทานอลของพริกขี้หนู (Capsicum frutescens) ให้ผลการยับยั้งการเจริญของ S.agalactiae ได้ดีที่สุด โดยมีค่า MIC เท่ากับ 31.25 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร เมื่อนำ S.agalactiae มาทดสอบความสามารถในการก่อโรคในปลานิล โดยการฉีดเชื้อดังกล่าวเข้าทางช่องท้องของปลานิล (Oreochromis niloticus) พบว่า ปริมาณเชื้อที่ทำให้ปลาตายเป็นจำนวนร้อยละ 50 (median lethal dose, LD50) มีค่าเท่ากับ 2.4*105 CFU/ml และเมื่อนำอาหารที่มีส่วนผสมของพริกขี้หนูบดละเอียดในอัตราส่วน 9:1 (w/w) อาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดด้วยเมทานอลของพริกขี้หนูในอัตราส่วน 19:1 (w/w) และอาหารที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ Oxytetracycline ในอัตราส่วน 199:1 (w/w) มาเลี้ยงปลานิลที่ได้รับเชื้อ S.agalactiae ในปริมาณเท่ากับค่า LD50 พบว่าอัตราการรอดชีวิตของปลานิลติดเชื้อที่ได้รับอาหารที่ผสมสมุนไพรทั้งสองชนิด และอาหารที่ผสมยาปฏิชีวนะมีค่าใกล้เคียงกัน แต่สูงกว่าอัตราการรอดชีวิตของปลาติดเชื้อที่ได้รับอาหารที่ไม่มีการผสมสมุนไพรสำหรับการทดสอบกับ A.hydrophila ได้นำสมุนไพรทั้งหมด 14 ชนิด ได้แก่ บอระเพ็ด บัวบก ฝรั่ง ฟ้าทะลายโจร กระเทียม มังคุด มะระขี้นก ทับทิม ชุมเห็ดเทศ ข่า กานพลู กระชาย กะเพรา และตะไคร้ มาทำการสกัดด้วยตัวทำละลาย 3 ชนิด คือ เอทานอลเข้มข้น ร้อยละ 90 อีเทอร์ และน้ำกลั่น จากนั้นนำสารสกัดดังกล่าวไปตรวจสอบความสามารถในการยับยั้งการเจริญของ A.hydrophila โดยวิธี swab paper disc assays และหาค่า MIC จากผลการทดลอง พบว่า สารสกัดด้วยเอทานอลเข้มข้นร้อยละ 95 ของใบฝรั่ง (Psidium guajava) ให้ผลการยับยั้งการเจริญของ A.hydrophila ได้ดีที่สุด โดยมีค่า MIC เท่ากับ 62.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร เมื่อนำ A.hydrophila มาทดสอบความสามารถในการก่อโรคในปลานิล โดยการฉีดเชื้อดังกล่าวเข้าทางช่องท้องของปลานิล พบว่า LD50 มีค่าเท่ากับ 1.37*106 CFU/ml และเมื่อนำอาหารที่มีส่วนผสมของใบฝรั่งบดละเอียดในอัตราส่วน 4:1 (w/w) อาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดด้วยเอทานอลเข้มข้นร้อยละ 95 ของใยฝรั่ง ในอัตราส่วน 24:1 (w/w) และอาหารที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ oxytetracycline ในอัตราส่วน 199:1 (w/w) มาทำการเลี้ยงปลานิลที่ได้รับเชื้อ A.hydrophila ในปริมาณเท่ากับ LD50 พบว่าอัตราการรอดชีวิตของปลานิลติดเชื้อที่ได้รับอาหารที่ผสมสมุนไพรทั้งสองชนิดและอาหารที่ผสมยาปฏิชีวนะมีค่าใกล้เคียงกัน แต่สูงกว่าอัตราการรอดชีวิตของปลาติดเชื้อที่ได้รับอาหารที่ไม่มีการผสมสมุนไพร การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสมุนไพรไทยมีศักยภาพในการนำมาใช้ควบคุมโรคปลาแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ |
Title Alternate | Potential of Thai herbs and their extracts as alternatives to antibiotics for controlling Streptococcus agalactiae and Aeromonas hydrophila infections in Nile Tilapia (Oreochromis niloticus Linn.) |