สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของชุมชนกับความเป็นสาธารณะ : กรณีศึกษาศูนย์เรียนรู้ชุมชนเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิตโพนยางคำ ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

Titleสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของชุมชนกับความเป็นสาธารณะ : กรณีศึกษาศูนย์เรียนรู้ชุมชนเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิตโพนยางคำ ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2556
Authorsวรวุฒิ อินทนนท์
Degreeปร.ด.(สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHN ว285
Keywordsการบริหารองค์ความรู้--สกลนคร, องค์กรชุมชน--สกลนคร
Abstract

การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ความรู้ที่ชุมชนได้รับจากสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ผ่านการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และการนำความรู้จากสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนไปใช้ปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน และเพื่อศึกษาความเป็นสาธารณะของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน โดยศึกษาภาคสนามในพื้นที่เป้าหมาย คือ ศูนย์เรียนรู้ของชุมชน เครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิตโพนยางคำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ในการวิจัยครั้งนี้ใช้แนวคิดเกี่ยวกับองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน แนวคิดการศึกษาทางเลือก แนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ และแนวคิดปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของเดอ แซร์โต (Du Certeau) มาใช้ในการวิเคราะห์อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว มีข้อค้นพบจากการวิจัยครั้งนี้ คือ ประการแรก องค์ความรู้ของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน มาจากประสบการณ์การทำงานกับชุมชน และได้นำมาสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ตามรายวิชาต่าง ๆ จากองค์ความรู้ต่าง ๆเหล่านี้สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนได้นำมาจัดกระบวนการเรียนรู้โดยผ่านศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิต ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ตั้งอยู่ตามชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ จัดกระบวรการเรียนรู้โดยเอาชีวิตของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง เอาชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานในการเรียนรู้ เน้นที่การปฏิบัติแล้วให้ผู้เรียนประมวลประสบการณ์ของตนเองมาบูรณาการเข้ากับความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ทั้งจากเอกสาร จากผู้รู้ในท้องถิ่น แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีกระบวยการเรียนรู้ด้วยวิธีการจัดการความรู้ (KM) การทำโครงงาน การวิจัยและพัฒนาการบูรณาการการเรียนรู้กับชีวิตจริง และการศึกษาดูงานตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ และมีการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน โดยการเล่าเรื่องจากประสบการณ์ที่ได้รับจากสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งมีประเด็นที่นำไปสู่การต่อรองที่พบชัดเจน คือ การรวมกลุ่มของนักศึกษาเพื่อทำโครงการปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ นำมาซึ่งการเป็นสมาชิกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สกลนคร และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการให้ความรู้แก่สมาชิกเกี่ยวกับการเกษตรอินทรีย์ การไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการเกษตร และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อสุขภาพ สะอาด ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ขายได้ ราคาสูงขึ้น เช่น การทำข้าวกล้อง ข้าวฮาง นำมาซึ่งการต่อรองกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงสีและกลุ่มผู้ค้าปุ๋ยเคมี ทำให้ประชาชนในชุมชนมีทางเลือกให้กับตัวเองมากขึ้น สามารถที่จะกำหนดราคาและจำหน่ายสินค้าได้เอง จากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ดังกล่าว ทำให้เกิดการสร้างความหมายใหม่ให้กับชีวิตนักศึกษาหลาย ๆ คน มีการเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิดและการปฏิบัติ กล้าคิด กล้าแสดงออกมากขึ้นมีศักดิ์ศรี รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง และสามารถอยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุข และประการที่สองความเป็นสาธารณะของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนนั้นพบประเด็นสำคัญคือ สถาบันแห่งนี้มีคุณค่าต่อท้องถิ่นเพราะเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกเพื่อสาธารณะประโยชน์ไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำธุรกิจการศึกษา จัดการศึกษาที่เป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน เปิดโอกาสสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยเฉพาะประชาชนวัยทำงานที่ประกอบอาชีพตามชุมชนท้องถิ่นที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจสังคม หลักสูตรของสถาบันเกิดขึ้นมาจากภูมิปัญญาของผู้รู้ในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสถาบันมองว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า โดยเฉพาะชุมชนที่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองแทนการพึ่งพาจากรัฐหรือคนอื่น นอกจากนี้ยังพบว่าสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนเป็นสถาบันที่เกิดขึ้นเพื่อส่วนรวมโดยเฉพาะการสร้างนักศึกษาให้มีจิตอาสา เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และหลักสูตรของสถาบันเป็นหลักสูตรที่มีความเกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่น เป็นหลักสูตรที่ทำให้คนในท้องถิ่นเรียนแล้วมองเห็นคุณค่าของท้องถิ่นตนเอง ทำให้ค้นพบตนเอง สามารถสร้างประโยชน์เป็นตัวอย่างแก่ชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี สุดท้ายพบว่า สถาบันแห่งนี้สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการศึกษา โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทั้งสถานที่เรียน แหล่งเรียนรู้ของชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นการเปิดโอกาสให้เป็นทางเลือกสำหรับคนในท้องถิ่นได้เรียน สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

Title Alternate Learning institute for everyone and the practice of everyday life of community and the public being: a case study of the center of community learning network for Ponyangkum university for life, Nonhom sub-district, Mueng district, Sakon Nakhon province
Fulltext: