การศึกษากระบวนการผ้าย้อมครามและพืชชนิดอื่นเพื่อพัฒนาผ้าทอมือจากสีธรรมชาติ

Titleการศึกษากระบวนการผ้าย้อมครามและพืชชนิดอื่นเพื่อพัฒนาผ้าทอมือจากสีธรรมชาติ
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2555
Authorsชัยวัฒน์ แก้วคล้ายขจรศิริ
Degreeปร.ด(สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์)
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTT ช432ก
Keywordsคราม, สีย้อมจากพืช, สีย้อมและการย้อมสี
Abstract

วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1)ศึกษากระบวนการผ้าย้อมครามและพืชชนิดอื่นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น 2)พัฒนากระบวนการผ้าย้อมครามที่เหมาะสมกับการผลิตในชุมชน และ 3)พัฒนาผ้าทอมือจากสีธรรมชาติที่คงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเพื่อประโยชน์อื่นที่ตอบสนองความต้องการของสังคมปัจจุบัน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยทดลองเพื่อพัฒนา ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตผ้าย้อมครามในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนคร กลุ่มตัวอย่างผู้วิจัยใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง กลุ่มผู้ผลิตผ้าย้อมครามในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนคร จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านนาดี (แม่ฑีตา) กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านโนนเรือ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านถ้ำเฒ่า และกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านพันนา
ผลการวิจัยสามารถจำแนกออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ 1)ส่วนของการศึกษากระบวนการผ้าย้อมครามและพืชชนิดอื่นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น พบว่า พืชที่ให้สีครามเป็นพืชคนละสกุลกัน ภาคอีสานใช้ต้นคราม อยู่ในพืชตระกูลถั่วมีชื่อพฤกษศาสตร์: Indigofera tinctoria Linn ชื่อวงศ์ : LEFUMINOSAE ส่วนภาคเหนือจะใช้ต้นห้อมซึ่งเป็นไม้ล้มลุก ชื่อพฤกษศาสตร์ :Strobilanthes cusia (Nees) Kuntze ชื่อวงศ์ : ASCLEPLADACEAE พืชทั้งสองชนิดมีกระบวนการหมักคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันที่ส่วนผสมและระยะเวลาหมัก และยังไม่พบพืชชนิดอื่นที่ให้สีคราม 2)ส่วนของการพัฒนากระบวนการผ้าย้อมครามที่เหมาะสมกับการผลิตในชุมชน พบว่า ยางกล้วยน้ำว้าดิบนำมาเคลือบหลังการย้อมครามจะทำให้การยึดเกาะของสีครามในฝ้ายได้ดี ทำให้สีครามที่ย้อมมีความเข้มขึ้น และสีย้อมครามยังสามารถย้อมทับหรือผสมกับสีธรรมชาติอื่น ๆ ทำให้เกิดโทนสีที่มีความแตกต่างกัน และ 3)ส่วนของการพัฒนาผ้าทอมือจากสีธรรมชาติที่คงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเพื่อประโยชน์อื่นที่ตอบสนองความต้องการของสังคมปัจจุบัน พบว่า การใช้เทคนิคการเขียนบาติกบนผ้าฝ้ายทำให้เกิดลวดลายที่แตกต่างไปจากการสร้างลายด้วยการทอ การนำพืชชนิดอื่นมาใช้ร่วมกับกระบวนการย้อมคราม ทำให้เกิดสีที่สามารถนำไปสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าได้ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเพื่อประโยชน์อื่นที่ตอบสนองความต้องการของสังคมปัจจุบัน ควรคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 ด้าน ดังนี้ 1)ด้านคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม ประกอบด้วย อัตลักษณ์เฉพาะถิ่น และการบอกเล่าเรื่องราว 2)ด้านค่านิยมและความต้องการของผู้บริโภค และ 3)ด้านหลักการออกแบบลายผ้า ประกอบด้วย สัดส่วน ความกลมกลืน ความขัดแย้ง จังหวะและการเคลื่อนไหว การเน้น ความสมดุล ในการวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้นำผลการศึกษามาทดลองพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบประเภทเคหะสิ่งทอ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ต่อไป

Title Alternate Studying the method of fabric denim-colouration in order to develop natural dying of hadn woven clothes
Fulltext: