Title | ผลของต้นตอมะเขือที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตมะเขือเทศสีดาในสภาพโรงเรือนและแปลงปลูก |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2554 |
Authors | ภาวิณี ท้าวเพชร |
Degree | วท.ม (สาขาวิชาเกษตรศาสตร์) |
Institution | คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | SB ภ479 |
Keywords | มะเขือเทศพันธุ์สีดา, มะเขือเทศพันธุ์สีดา--การขยายพันธุ์, มะเขือเทศพันธุ์สีดา--โรคเหี่ยวเขียว |
Abstract | การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกต้นตอมะเขือที่ต้านทานต่อการเกิดโรคเหี่ยวเขียว ที่มีสาเหตุจากเชื้อ Ralstonia salanacearum ไอโซเลตที่มีความรุนแรงในการก่อให้เกิดโรคเหี่ยวเขียวจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และคัดเลือกต้นตอมะเขือเหล่านี้ให้ทนทานต่อการถูกน้ำท่วมขัง เพื่อใช้เป็นต้นตอในการผลิตมะเขือเทศสีดานอกฤดู จากการศึกษาในสภาพโรงเรือนทดลองโดยน้ำเชื้อโรคเหี่ยวเขียวจำนวน 5 ไอโซเลตมาทำการปลูกเชื้อกับมะเขือ 16 สายพันธุ์/พันธุ์ พบว่า มะเขือที่มีลักษณะต้านทานโรคเหี่ยวเขียวโดยไม่พบการเกิดโรค คือ TS3, TS69 EG195 EG203 EG219 S00021 S000056 S00198 และมะเขือพวง ส่วนเชื้อ R.salanacearum สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงในการก่อโรคเหี่ยวเขียวกับมะเขือ ได้แก่ เชื้อไอโซเลต KK07 NK03 MH08 UD10 และ UB01 โดยมีค่าเฉลี่ยการเกิดโรคเหี่ยวเขียวเท่ากับร้อยละ 19.37 18.2 16.25 3.12 และ 0 ตามลำดับ การคัดเลือกมะเขือที่ทนทานต่อการถูกน้ำท่วมขังในสภาพแปลงปลูก โดยใช้มะเขือ 11 สายพันธุ์/พันธุ์ พบว่า มะเขือพวง และมะเขือ EG203 มีแนวโน้มในการทนทานต่อการถูกน้ำท่วมขังหลังถูกน้ำท่วมนาน 168 ชั่วโมง โดยเกิดการโค้งงอของก้านใบของใบเฉลี่ย 7.90 และ 12.70 % ตามลำดับ และเมื่อทำการศึกษาอิทธิพลของต้นตอมะเขือที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตมะเขือเทศสีดาในสภาพโรงเรือน โดยใช้มะเขือเทศสีดาสายพันธุ์ CNK10-3 และสีดาทิพย์ 4 เป็นกิ่งพันธุ์ดี และมะเขือพวง มะเขือ EG203 และมะเขือเทศ H7996 ใช้เป็นต้นตอ พบว่า การต่อยอดมะเขือเทศสายพันธุ์ CNK10-3 และสีดาทิพย์ 4 บนต้นตอทั้ง 3 ชนิดไม่มีผลต่อจำนวนดอกต่อช่อ ร้อยละของการติดผล น้ำหนักผล เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นของกิ่งพันธุ์และต้นตอ แต่มีผลจำนวนวันดอกแรกบาน ความสูง จำนวนผลต่อต้น ผลผลิตต่อต้น เส้นผ่าศูนย์กลางของรอยเชื่อมระหว่างกิ่งพันธุ์และต้นตอ เปอร์เซ็นต์การเข้ากันได้ และเปอร์เซ็นต์การรอดตายจากโรคเหี่ยวเขียวในแปลงปลูก ซึ่งส่งผลให้มะเขือเทศมีผลผลิตต่อไร่ที่แตกต่างกันระหว่างต้นตอแต่ละชนิด โดยการต่อยอดมะเขือเทศสีดาสายพันธุ์ CNK10-3 และสีดาทิพย์ 4 บนต้นตอมะเขือ EG203 มีผลผลิตต่อไร่ (4,896 และ 5,112 กิโลกรัมต่อไร่) สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับการต่อยอดบนต้นตอมะเขือเทศ H7996 (3,844 และ 3,617 กิโลกรัมต่อไร่) มะเขือพวง (3,420 และ 3,388 กิโลกรัมต่อไร่) และมะเขือเทศกิ่งพันธุ์ดีไม่ต่อยอด (2,508 และ1,690 กิโลกรัมต่อไร่) ส่วนคุณภาพผลผลิตของมะเขือเทศสีดาสายพันธุ์ CNK10-3 และสีดทิพย์ 4 ที่ต่อยอดบนต้นตอทั้ง 3 ชนิด และมะเขือเทศกิ่งพันธุ์ดีไม่ต่อยอดไม่มีผลต่อค่า pH และสีของผลมะเขือเทศสีดา แต่มีผลต่อความหวาน โดยผลมะเขือเทศสายพันธุ์ CNK10-3 และสีดาทิพย์ 4 ที่ต่อยอดบนต้นตอมะเขือพวง (6.0 และ 6.2 องศาบริกซ์) และ EG203 (6.0และ6.1 องศาบริกซ์) มีความหวานสูงกว่าการต่อยอดบนต้นตอ H7996 (5.4 และ 5.2 องศาบริกซ์) และมะเขือเทศกิ่งพันธุ์ดีไม่ต่อยอด (5.2 และ 5.2 องศาบริกซ์) ตามลำดับ |
Title Alternate | Effect of Solanum rootstocks on growht and yield of Sida tomato in greenhouse and open-field |