Title | การประยุกต์ใช้คุณธรรมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง กรณีศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดเชียงใหม่ |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2555 |
Authors | วีระศักดิ์ สมยานะ |
Degree | ปร.ด (สาขาวิชาพัฒนบูรณาการศาสตร์) |
Institution | คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | JF ว849 |
Keywords | ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, เศรษฐกิจพอเพียง |
Abstract | การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณธรรมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมกับการประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งนำไปสู่วิธีการหรือกระบวนการในการยกระดับความมีคุณธรรมของ อปท.ให้สูงขึ้น ตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง การศึกษานี้เป็นวิจัยเชิงคุณภาพและสนับสนุนด้วยการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ข้อมูลปฐมภูมิรวบรวมจาก 30 อปท. ที่สมัครใจในการร่วมเวทีเสวนา ปฏิบัติการและตอบแบบประเมิน ซึ่งผู้ให้ข้อมูลในแต่ละ อปท. ประกอบไปด้วยฝ่ายบริหาร ฝ่ายปฏิบัติงาน และฝ่ายสภา อปท. จำนวน 440 ชุดต่อ อปท. รวมทั้งสิ้น 13,200 ชุด และนำข้อมูลที่ได้มาจัดลำดับการพัฒนาองค์กรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในระดับเข้าถึง เข้าใจ เข้าข่าย และไม่เข้าข่าย โดยใช้สถิติอย่างง่าย คือ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากนั้นทำการวิเคราะห์การประยุกต์ใช้คุณธรรมในองค์กรแบบองค์รวมซึ่งเป็นการประเมินภายในฝ่ายและภายนอกฝ่ายขององค์กรร่วมกับการวิเคราะห์การสางเสริมการมีส่วนร่วมของ อปท. กับชุมชนที่ส่งผลต่อระดับความอยู่ดีมีสุขของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยวิธีการสามเส้า
ผลการวิจัยพบว่าคุณธรรมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการภายในองค์กรที่เหมือนกันทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทนและความขยันหมั่นเพียนและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทั้งนี้การวิจัยชี้ให้เห็นว่าคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณธรรมที่มีความจำเป็นมากที่สุดสำหรับการบริหารองค์กรการเมือง ส่วนคุณธรรมความอดทนและขยันหมั่นเพียรเหมาะสมที่จะใช้ร่วมกับการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน สำหรับคุณธรรมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นคุณธรรมที่ อปท. ต้องปฏิบัติโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ อปท. ที่มีการพัฒนาระดับเข้าถึงจะมีการประยุกต์ใช้คุณธรรมทั้ง 3 ประการอยู่ในระดับมากที่สุด
วิธีการหรือกระบวนการในการยกระดับความมีคุณธรรมของ อปท. ให้สูงขึ้น ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การเตรียมตัวของผู้เข้าร่วมการพัฒนา 2) การวิเคราะห์ปัจจัยภายในเพื่อยกระดับความมีคุณธรรมของ อปท. 3)การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกเพื่อยกระดับความมีคุณธรรมของ อปท. 4) การสร้างกลยุทธ์ทางเลือก และ 5)การปรับปรุงและประเมินกลยุทธ์ทางเลือก เพื่อกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนการยกระดับคุณธรรมขององค์กรให้สูงขึ้น ทั้งนี้ อปท. ที่มีลักษณะการพัฒนาระดับไม่เข้าข่ายควรกำหนดให้มีโครงการส่งเสริมคุณธรรมในการดำเนินงานในองค์กร เน้นความซื่อสัตย์สุจริต โดยเฉพาะผู้บริหารต้องใช้สังคหวัตถุ 4 เป็นหลักธรรมในการบริกหารองค์กร สำหรับ อปท. ระดับเข้าข่าย ควรพัฒนากระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลที่จะนำผลสะท้อนกลับมาพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน สำหรับ อปท. ระดับเข้าใจ ควรเน้นการนำเอาผลของการมีส่วนร่วมในการทำแผนกับชุมชนให้ได้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของตำบลสู่การปฏิบัติจริง ส่วน อปท.ระดับเข้าถึง ควรสร้างเครือข่ายระหว่าง อปท. ระดับเข้าใจและระดับเข้าถึงด้วยกัน ให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ อปท. ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้การวิจัยยังพบว่าความอยู่ดีมีสุขของชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมีความสอดคล้องกับระดับคุณธรรมของ อปท. ที่นำไปประยุกต์ใช้ในทิศทางเดียวกัน คือ ในกลุ่มของ อปท. ที่มีระดับการพัฒนาคุณธรรมระดับเข้าถึงนั้น ชุมชนจะมีระดับความอยู่ดีมีสุขจากการได้รับบริการของ อปท.ในระดับสูงมาก ส่วน อปท.ที่มีคุณธรรมระดับเข้าใขและระดับเข้าข่าย และไม่เข้าข่ายจะมีความอยู่ดีมีสุขลดลงตามลำดับ ดังนั้นหากมีการส่งเสริมคุณธรรมใน อปท. ให้สูงขึ้นและจะมีผลต่อระดับความอยู่ดีมีสุขของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559)
|
Title Alternate | The application of morality in sufficiency economy philosophy to propel the performance of local administrative organizations: a case study of local administrative organizations in Chiang Mai province |