พฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรผู้ปลูกผักในพื้นที่การเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง กรณีศึกษา อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

Titleพฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรผู้ปลูกผักในพื้นที่การเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง กรณีศึกษา อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2552
Authorsชิดหทัย เพชรช่วย, สมศักดิ์ อินทมาต
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberS584.75.T5 ช548
Abstract

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเกษตรกรผู้ปลูกผักในพื้นที่การเกษตรริมฝั่งโขง ในพื้นที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ทำการสำรวจข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามสัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างผู้ปลูกผัก ที่มีพื้นที่แปลงปลูกอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง จำนวน 250 คน ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล สำรวจและเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม 2551 ข้อมูลที่ทำการสำรวจประกอบด้วย 1)ลักษณะข้อมูลทางประชากร 2)ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม 3)ข้อมูลการใช้สารเคมีในแปลงผัก 4)ข้อมูลด้านพฤติกรรมการใช้สารเคมี และ 5)ข้อมูลด้านสุขภาพ จากผลการสำรวจพบว่าชนิดของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในกลุ่มสารเคมีกำจัดแมลงที่เกษตรกรใช้ส่วนใหญ่ คือ ไซเพอร์เมทริน และ คลอร์ไฟริฟอส คิดเป็นร้อยละ 70.4 และ 60 ตามลำดับ ส่วนสารเคมีกำจัดวัชพืชที่เกษตรกรนิยมใช้มากคือ พาราควอท และไกโฟเสท คิดเป็น ร้อยละ 57.6 และ 55.2 ตามลำดับ รวมถึงสารชีวภาพบางชนิด จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่าเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดใช้อุปกรณ์ฉีดพ่นสารเคมีที่เหมาะสมในบางครั้ง โดยเฉพาะการจัดเก็บสารเคมีห่างไกลจากตัวบ้าน การอ่านฉลากข้างขวดสารเคมีก่อนการผสม รวมถึงการล้างทำความสะอาดร่างกายและอุปกรณ์ภายหลังจากฉีดพ่นสาร อย่างไรก็ตามพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มักทำการผสมสารเคมีที่มีความเข้มข้นสูงกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก ในเรื่องของการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลพบว่า เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างทุกคนมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างน้อยคนละ 1 ชนิด ขณะทำการผสมหรือฉีดพ่น อุปกรณ์ป้องกันที่เกษตรกรนิยมใช้ส่วนใหญ่ ได้แก่ หมวกโม่งคลุมศีรษะ รองเท้าบูทยาง เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว เป็นต้น ซึ่งอาจไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการสัมผัสสารเคมี อุปกรณ์ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่นิยมสวมใส่ ได้แก่ แว่นครอบตา ถุงมือกันสารเคมี หรือแม้แต่หน้ากากธรรมดา เนื่องจากไม่สะดวกสบายขณะการทำงาน จากการศึกษาจะเห็นได้ว่าแม้เกษตรกรส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจในเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ยังขาดความตระหนักในเรื่องของการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการสัมผัสสารเคมี การประเมินความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรจึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษาต่อไป รวมถึงการเฝ้าระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ศึกษาอีกด้วย

Title Alternate Pesticide application behaviors of vegetable farmers in agricultural area along Mekong river. Case study in Thatphanom district, Nakornphanom province