ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ในนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Titleความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ในนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2554
Authorsพลากร สืบสำราญ, บัณฑิตา สุขุมาลย์, ลักษณีย์ บุญขาว, ปวีณา ลิมปิทีปราการ
Institutionวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQR201.I6 พ455
Keywordsพฤติกรรมการป้องกันโรค, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1
Abstract

การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ซึ่งเป็นวิกฤติทางสาธารณสุขของประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อชุมชนและประชาชนในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เพื่อเป็นการเตรียมรับมือการระบาดของโรครอบใหม่ หรือการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำที่มีรูปแบบการระบาดคล้ายคลึงกัน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสังเกต (Observational study) พรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional descriptive study) เพื่อศึกษาระดับความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมในการป้องกันโรค ปัจจัยที่มีผลต่อความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมในการป้องกันโรค และความสัมพันธ์ของความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ในกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 1-4 ปีการศึกษา 2553 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็น (Probability sampling) จำนวน 810 คน ใช้แบบสัมภาษณ์ในการรวบรวมข้อมูล
นักเรียนมีความรู้อยู่ในระดับดี ร้อยละ 65.7 มีทัศนคติต่อการส่งเสริมการป้องกันโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 80.1 และมีพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ร้อยละ 57.5 การเคยมีผู้ป่วยในชุมชน หรือหอพักมีความสัมพันธ์กับความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมในการป้องกันโรค (p<0.0001, p<0.0001 และ p=0.003 ตามลำดับ) การเคยมีผู้ป่วยในครอบครัวมีความสัมพันธ์กับความรู้ (p=0.023) และการเคยได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคมีความสัมพันธ์กับความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมในการป้องกันโรค (p=0.001, p<0.0001 และ p=0.002 ตามลำดับ) และเมื่อวิเคราะห์ถดถอยอย่างง่ายพบว่า ความรู้ความสามารถพยากรณ์ทัศนคติต่อการส่งเสริมการป้องกันโรคและพฤติกรรมการป้องกันโรคได้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 (p<0.0001 และ p<0.0001 ตามลำดับ)และทัศนคติสามารถพยากรณ์พฤติกรรมการป้องกันโรค อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 (p<0.0001)
การเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับโรคมีความสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจากคนสู่คน จะนำไปสู่การมีทัศนคติ และพฤติกรรมในการป้องกันโรคที่ดี

Title Alternate http://202.28.51.206/medias/pdf/fulltext1/eresearch/b177574/titlepage.pdf