Title | การพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาในวิถีชุมชนจังหวัดนครราชสีมา |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2555 |
Authors | บุญชุบ บุญสุข |
Degree | ปร.ด (สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์) |
Institution | คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | NK บ435 |
Keywords | นครราชสีมา, เครื่องปั้นดินเผา |
Abstract | การพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาในวิถีชุมชนจังหวัดนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์คือ 1)เพื่อศึกษาภูมิปัญญาการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในจังหวัดนครราชสีมา 2) เพื่อศึกษาทดสอบสมบัติทางเคมีและทางฟิสิกส์ของดิน รวมทั้งอัตราส่วนผสมของดินที่ใช้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาบ้านลำโพลง ตำบลพุดซา แหล่งดินบ้านตลาด ตำบลตลาด แหล่งดินบ้านประโดก ตำบลหนองหลัก อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา และ 3) เพื่อออกแบบและพัฒนาวัสดุ กระบวนการผลิต เตาเผา และรูปแบบเครื่องปั้นดินเผา ได้ศึกษาตามกระบวนการวิธีการดำเนินการวิจัย
ผลการศึกษาพบว่า 1) การผลิตเครื่องปั้นดินเผาในวิถีชุมชนจังหวัดนครราชสีมามีกระบวนการการผลิตเหมือนกัน มีขั้นตอนการผลิต 7 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมดิน การเตรียมดินเชื้อ การหมักดิน การขึ้นรูปด้วยไม้ตีและหินดุ การกดลาย การตากแห้ง และการเผากลางแจ้ง ปัจจุบันชุมชนมีแนวโน้มไม่มีผู้สืบทอดภูมิปัญญา 2)ผลการทดสอบทางฟิสิกส์และทางเคมี แหล่งดินทั้ง 3 ชุมชน ผลการวิเคราะห์ที่ได้จากการทดสอบคือ ค่าผลวิเคราะห์ทางเคมี พบว่า ส่วนประกอบทางเคมีของดินแต่ละแหล่งมีความแตกต่างกัน ส่วนการทดสอบการหดตัว การดูดซึมน้ำและการทดสอบความแข็งแรงดินก่อนเผาและหลังการเผาพบว่า มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นดินบ้านลำโพลงจะมีค่าความแข็งแรงต่ำ จากผลการทดสอบทำให้สามารถนำไปควบคุมการหดตัวของดินปรับปรุงกระบวนการผลิต และการพัฒนาเนื้อดินปั้นชนิดต่าง ๆ 3)การพัฒนาเตาเผาไฟต่ำ สามารถออกแบบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ห้องเผาผลิตภัณฑ์และห้องเผาสำหรับเผาไหม้เชื้อเพลิง ผนังภายในกรุด้วยเซรามิกไฟเบอร์ชนิดแผ่น สามารถประกอบแยกชิ้นส่วนได้ เตาเผาให้ความร้อนถึงอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส การทดลองเคลือบอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส พบว่า มีอัตราส่วนผสมของฟริตต่อควอตซ์ เคลือบมีความมันวาว จำนวน 16 อัตราส่วนผสม โดยมีฟริตร้อยละ 85 ถึงร้อยละ 99 ควอตซ์ ร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 15 และออกแบบกระถามชวนชมตามความต้องการผู้ใช้ในจังหวัดนครราชสีมา
จากการวิเคราะห์พบว่า กระบวนการการพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาในวิถีชุมชนจังหวัดนครราชสีมา จากการประเมินประสิทธิภาพ 1)ด้านการออกแบบและพัฒนาเตาเผา โดยมีค่าเฉลี่ยระดับ 4.09 มีความเหมาะสมในระดับดี 2)ด้านการพัฒนาเคลือบเหมาะสมกับดินพื้นบ้าน ค่าเฉลี่ยระดับ 4.46 มีความเหมาะสมในระดับดี 3)ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระถางชวนชม มีค่าเฉลี่ยระดับ 4.5 มีความเหมาะสมในระดับดี
|
Title Alternate | The pottery development in community Nakhonratchasima Province |