พฤติกรรมการสูบบุหรี่และทัศนคติต่อการเลิกบุหรี่ของบุคลากรทางสาธารณสุขและบุคลากรทางการศึกษา เขตตรวจราชการสาธารณสุขที่ 14

Titleพฤติกรรมการสูบบุหรี่และทัศนคติต่อการเลิกบุหรี่ของบุคลากรทางสาธารณสุขและบุคลากรทางการศึกษา เขตตรวจราชการสาธารณสุขที่ 14
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2551
Authorsจุฑาทิพย์ แซ่จึง
Degreeเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิคและการบริหาร
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHV จ623
Keywordsการติดบุหรี่, การสูบบุหรี่, การเลิกบุหรี่, ทัศนคติต่อการเลิกบุหรี่, บุคลากรทางการศึกษา, บุคลากรทางสาธารณสุข, พฤติกรรมการสูบบุหรี่
Abstract

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (survey study) แบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional study) ในด้านพฤติกรรมการสูบบุหรี่และทัศนคติต่อการเลิกบุหรี่ของบุคลากรทางสาธารณสุขและบุคลากรทางการศึกษา เพศชาย เขตตรวจราชการสาธารณสุขที่ 14 จำนวน 1412 คน พบว่า บุคลากรทางสาธารณสุขและบุคลากรทางการศึกษามีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ร้อยละ 21.1 ระดับทัศนคติต่อโทษของการสูบบุหรี่โดยรวมของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับดี (มีระดับคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.24) โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีระบบทัศนคติสูงสุด คือ ด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รองลงมือ คือ ด้านผลกระทบต่อสังคม ผลกระทบต่อการทำงาน และผลกระทบต่อสุขภาพ ตามลำดับ โดยข้อที่มีระดับคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ คนเราไม่รู้วันตายจะเชื่อได้อย่างไรว่าจะตายเร็วกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบระดับทัศนคติต่อโทษของการสูบบุหรี่ พบว่า บุคลากรทางสาธารณสุขมีระดับทัศนคติสูงกว่าจากบุคลากรทางการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.001) โดยเมื่อพิจารณาแยกตามพฤติกรรมการสูบบุหรี่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ไม่สูบบุหรี่มีระดับทัศนคติสูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่สูบบุหรี่กับปัจจัยลักษณะประชากรด้านต่าง ๆ พบว่า ปัจจัยตำแหน่งงาน การศึกษา สถานภาพสมรส รายได้ เศรษฐกิจในครอบครัว ชีวิตครอบครัว การดื่มสุรา และสมาชิกรอบตัวที่สูบบุหรี่ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในขณะที่ปัจจัยอาชีพ อายุ และจำนวนบุตร ไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ในกลุ่มตัวอย่างที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ พบว่า ส่วนใหญ่มีภาวะเสพติดทางจิตใจและมีระดับการติดบุหรี่อยู่ในระดับติดบุหรี่น้อย สำหรับทัศนคติในการเลิกบุหรี่ของกลุ่มที่สูบบุหรี่ พบว่า บุคลากรทางสาธารณสุขมีระดับทัศนคติต่อการเลิกบุหรี่สูงกว่าบุคลากรทางการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value=0.016)
เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติต่อโทษของการสูบบุหรี่และปัจจัยลักษณะประชากรด้านต่าง ๆ พบว่า ในกลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุข ตัวแปรตำแหน่งงาน จำนวนบุตร การสูบบุหรี่ การดื่มสุราและการมีสมาชิกรอบตัวที่สูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อโทษของการสูบบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาพบว่า ตัวแปรสถานภาพเศรษฐกิจ การสูบบุหรี่และการดื่มสุรามีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อโทษของการสูบบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 เมื่อพิจารณากลุ่มประชากรที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่พบว่า ในบุคลากรทางสาธารณสุข ตัวแปรอายุที่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อโทษของการสูบบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.012) ในขณะที่กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาพบว่า ตัวแปรตำแหน่งงานมีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อโทษของการสูบบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value=0.011) เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติต่อการเลิกบุหรี่ของกลุ่มที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่กับปัจจัยลักษณะประชากรด้านต่าง ๆ พบว่า ในกลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุข ตัวแปรอายุ การศึกษา จำนวนบุตร และความเครียด มีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อการเลิกบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่กลุ่มบุคลากรทางการศึกษา พบว่า ตัวแปรต่าง ๆ ในทุกปัจจัยไม่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อการเลิกบุหรี่

Title Alternate Smoking behavior and attitudes toward smoking cessation of health care professionals and cademic staff in the 14th region of the ministry of public health