การพัฒนากิจกรรมการทดลองเรื่องการทดสอบความเป็นกรด-เบสของสารเคมีในชีวิตประจำวันโดยใช้อินดิเคเตอร์ในท้องถิ่น

Titleการพัฒนากิจกรรมการทดลองเรื่องการทดสอบความเป็นกรด-เบสของสารเคมีในชีวิตประจำวันโดยใช้อินดิเคเตอร์ในท้องถิ่น
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2550
Authorsชญานาถ ซ้อนพิมาย
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQD477 ช112
Keywordsกรด - เบส (เคมี), ปฏิกิริยาทางเคมี--การทดลอง, ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน, อินดิเคเตอร์
Abstract

งานศึกษาค้นคว้านี้เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนากิจกรรมการทดลอง เรื่องการทดสอบความเป็นกรด-เบส ของสารเคมีในชีวิตประจำวันโดยใช้อินดิเคเตอร์ในท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบความเป็นกรด-เบส ของสารรอบตัวและนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งเป็นการสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ ประชากรกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนนาเยียศึกษา รัชมังคลาภิเษก อำเภอนาเนีย จังหวัดอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2550 ที่มีความแตกต่างในระดับสติปัญญา จำนวนทั้งสิ้น 30 คน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการทดสอบความเป็นกรด-เบส ของสารละลายโดยใช้อินดิเคเตอร์จากพืช 4 ชนิด ได้แก่ น้ำคั้นกะหล่ำปลีสีม่วง ดอกอัญชัน ขมิ้นชัน และสายบัว เพื่อทดสอบความเป็นกรด-เบสของสารละลายตัวอย่าง 9 ชนิด ได้แก่ สบู่เหลว ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำมะนาว น้ำยาซักผ้าขาว น้ำกลั่น น้ำเกลือ น้ำส้มสายชู และน้ำปูนใส่ โดยนักเรียนเป็นผู้ทำการทดลอง บันทึกการทดลอง และอภิปรายผลการทดลองภายในชั้นเรียน การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนใช้แบบทดสอบก่อนเรียน และแบบทดสอบหลังเรียนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ซึ่งประกอบด้วยข้อสอบแบบอัตนัย 10 ข้อ และข้อสอบแบบปรนัย 10 ข้อ การศึกษาเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ได้ใช้แบบทดสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลด้านผลสัมฤทธิ์ของการเรียนโดยใช้สถิติร้อยละในการเปรียบเทียบการทดสอบก่อนเรียน หลังเรียนพบว่าผลการทดสอบก่อนเรียนให้ค่าเฉลี่ย 8 และผลการสอบหลังเรียนให้ค่าเฉลี่ย 11 จากข้อสอบ 20 ข้อ โดยมีนักเรียนจำนวน 22 คน มีผลคะแนนสอบสูงขึ้น ในขณะที่มีนักเรียนจำนวน 8 คน มีคะแนนสอบต่ำลง จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้เรียน พบว่า ผู้เรียนมีความพึงพอใจเกี่ยวกับรูปแบบการสอน เทคนิคการสอน การมีส่วนร่วมในการทดลอง และผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อยู่ในระดับมาก ดังนั้น วิธีการจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้จึงเป็นวิธีที่ดีในการสอนวิทยาศาสตร์และสามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

Title Alternate The development of experimental activity on acid-base testing of chemicals in everyday life beying local indicators