ผลของการให้ความรู้และคำแนะนำปรึกษาด้านยาโดยเภสัชกรในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ศูนย์แพทย์ชุมชนท่าวังหิน จังหวัดอุบลราชธานี

Titleผลของการให้ความรู้และคำแนะนำปรึกษาด้านยาโดยเภสัชกรในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ศูนย์แพทย์ชุมชนท่าวังหิน จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2551
Authorsประภาพร สุทธิประภา
Degreeเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาเภสัชกรรมคลินิกและการบริหาร
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRA ป342ผ
Keywordsบริการทางเภสัชกรรม, ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2, ยา--บริการสารสนเทศ, ศูนย์สุขภาพชุมชน, ศูนย์แพทย์ชุมชน, เบาหวาน--การให้คำปรึกษา--อุบลราชธานี, เภสัชกร, เภสัชกร--การให้คำปรึกษา
Abstract

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลของการให้ความรู้และคำแนะนำปรึกษาด้านยาโดยเภสัชกรที่มีต่อความรู้ พฤติกรรมสุขภาพด้านการบริโภคอาหาร การออกกำลังกายและความเครียด ระดับน้ำตาลในเลือด และปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจากการใช้ยาของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ศูนย์แพทย์ชุมชนท่าวังหิน จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2550 ถึงกุมภาพันธ์ 2551 จำนวน 81 คน ซึ่งถูกสุ่มและจัดเข้าสู่กลุ่มควบคุมหรือกลุ่มทดลอง โดยกลุ่มทดลองได้รับการให้ความรู้เป็นรายกลุ่มและได้รับการให้คำแนะนำปรึกษาด้านยาจากเภสัชกรเป็นรายบุคคล จำนวน 41 ราย ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับบริการตามระบบปกติในคลินิกโรคเบาหวาน จำนวน 40 ราย ทำการติดตามผู้ป่วย 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 เดือน การประเมินผลใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และสถิติ t-test
หลังการให้ความรู้และคำแนะนำปรึกษาพบว่า กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของคะแนนความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคเพิ่มขึ้นและสูงกว่ากลุ่มควบคุม และระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting Blood Sugar, FBS) ลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05 ตามลำดับ) ถึงแม้ว่าระดับพฤติกรรมสุขภาพโดยรวมของทั้งสองกลุ่มอยู่ในระดับปานกลาง และกลุ่มทดลองมีค่าระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง (HbA1C) ลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมแต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มทดลองมีจำนวนผู้ป่วยที่มีค่าระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง (HbA1C) อยู่ในระดับดีมากกว่ากลุ่มควบคุม ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจากการใช้ยาของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในกลุ่มทดลอง จำนวนปัญหาลดลงจากก่อนให้คำปรึกษา 171 ปัญหา เหลือเพียง 71 ปัญหา และ 43 ปัญหา ภายหลังการได้รับคำแนะนำปรึกษาจากเภสัชกรในครั้งที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นปัญหาการไม่ใช้ยาตามแพทย์สั่ง (ร้อยละ 59.30) ในด้านผู้ป่วยลืมรับประทานยาและการใช้ยาในเวลาที่ไม่เหมาะสม รองลงมาเป็นปัญหาด้านความปลอดภัยในด้านการมีอันตรกิริยาของยา (ร้อยละ 26.31)
ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการให้ความรู้และคำแนะนำปรึกษาด้วยยาโดยเภสัชกรในรูปแบบรายกลุ่มและรายบุคคล มีผลในการเพิ่มความรู้และทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ การวิจัยนี้น่าจะเป็นรูปแบบของการให้ความรู้และคำแนะนำปรึกษาด้านยาในศูนย์สุขภาพชุมชนอื่น ๆ ได้

Title Alternate Outcome in health care education and counselling for type-2 diabetics by pharmacist at Tha-Wanghin Community Medical Unit, Ubon Ratchathani Province