Abstract | โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันเป็นโรคที่มีความรุนแรง พบอัตราการตายสูงและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง (high cost) ในประเทศไทยการรักษาผู้ป่วยมีความหลากหลายแตกต่างกันตามข้อจำกัดในและสถาบัน ทำให้ผลการรักษาที่ได้แตกต่างกัน ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการรักษา และค่าใช้จ่ายการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
รูปแบบการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงพรรณนา โดยเก็บข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ว่าเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน (Acute leukemia) ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ? 30 กันยายน 2549 และติดตามผลการรักษาผู้ป่วยเป็นเวลา 2 ปี หรือถึงวันที่ 30 เมษายน 2551 ส่วนข้อมูลค่าใช้จ่ายการรักษาผู้ป่วยติดตามเป็นเวลา 1 ปี หลังการวินิจฉัย
ผลการวิจับพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันทั้งหมดจำนวน 151 ราย เป็นผู้ป่วยเด็กจำนวน 45 ราย โดยเป็นมะเร็งชนิด ALL 35 ราย (77.80%) AML 8 ราย (17.80%) APL 2 ราย (4.40%) ส่วนผู้ป่วยผู้ใหญ่จำนวน 106 ราย เป็นมะเร็งชนิด ALL 16 ราย (15.40%) AML 82 ราย (77.40%) และ APL 8 ราย (7.50%)
ผลการรักษาพบว่า ผู้ป่วยเด็กทุกรายได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หลังได้รับยาผู้ป่วย ALL, AML, APL มีอัตรา Complete remission เท่ากับ 85.71%, 37.50% และ 100% ตามลำดับ อัตราการกลับเป็นซ้ำเท่ากับ 6.70%, 0% และ 0% ตามลำดับ อัตราการรอดชีวิต ณ เวลา 2 ปี เท่ากับ 68.57%, 37.50% และ 100% ตามลำดับ โดยในผู้ป่วย AML มีมัธยฐานระยะเวลารอดชีวิตเท่ากับ 7.53 เดือน ส่วนผู้ป่วยผู้ใหญ่ได้รับการรักษาแตกต่างกันตามสภาวะผู้ป่วย โดยผู้ป่วย ALL และ APL ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดทุกราย ส่วนผู้ป่วย AML ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด 64 ราย Palliative chemotherapy 11 ราย และไม่ได้รับยาเคมีบำบัด 7 ราย เมื่อพิจารณากลุ่มผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัด พบว่า ผู้ป่วย ALL, AML, APL มีอัตรา complete remission เท่ากับ 31.30%, 32.81% และ 62.50% ตามลำดับ อัตราการกลับเป็นซ้ำเท่ากับ 40.00%, 47.62% และ 60% ตามลำดับ อัตราการรอดชีวิต ณ เวลา 2 ปี เท่ากับ 6.25%, 4.69% และ 25% ตามลำดับ โดยมีมัธยฐานระยะเวลารอดชีวิตเท่ากับ 3.50, 2.87ม 14.47 เดือนตามลำดับ ส่วนผู้ป่วย AML ที่รักษาแบบ Palliative chemotherapy และไม่ได้รับยาเคมีบำบัดมีมัธยฐานระยะเวลารอดชีวิตเท่ากับ 0.57 และ 1.03 เดือน ตามลำดับ
ค่าใช้จ่ายการรักษาผู้ป่วย พบว่า ผู้ป่วยเด็ก ALL และ AML มีมัธยฐานค่าใช้จ่ายเท่ากับ 165,660 และ 271,123 บาทตามลำดับ ผู้ป่วย APL 2 รายมีค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเท่ากับ 360,647 บาท ส่วนผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัดพบว่า ผู้ป่วย ALL, AML และ APL มีมัธยฐานค่าใช้จ่ายเท่ากับ 56,293 104,557 และ 110,495 บาท ตามลำดับ ส่วนผู้ป่วย AML ที่รักษาแบบ Palliative chemotherapy และไม่ได้รับยาเคมีบำบัดมีมัธยฐานค่าใช้จ่ายเท่ากับ 22,660 และ 9,080 บาทตามลำดับ และผู้ป่วยทุกรายเสียชีวิตก่อนเวลา 1 ปี เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายเฉพาะผู้ป่วยที่รักษาครบ 1 ปี พบว่า ในผู้ป่วยเด็ก ALL 28 ราย และ AML 4 ราย มีมัธยฐานค่าใช้จ่ายเท่ากับ 166,544 และ 366,147 บาทตามลำดับ ผู้ป่วย APL 2 ราย มีค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเท่ากับ 360,647 บาท ส่วนผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัด พบว่า ผู้ป่วย ALL 2 ราย มีค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่าย 115,911 บาท ผู้ป่วย AML 6 ราย และ APL 4 ราย มีมัธยฐานค่าใช้จ่ายเท่ากับ 349,658 และ 169,904 บาท ตามลำดับ
สรุปผลการวิจัย ผลการรักษาและค่าใช้จ่ายการรักษาผู้ป่วยขึ้นกับชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว รูปแบบการรักษาและชุดยาเคมีบำบัดที่ผู้ป่วยได้รับ โดยพบว่าผู้ป่วยเด็กมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าในผู้ป่วยผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงควรเพิ่มระยะเวลาในการศึกษาอัตราการรอดชีวิตในผู้ป่วยเด็กอีกทั้งพบว่าอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยต่ำกว่าการศึกษาอื่น จึงอาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายการรักษาที่ประเมินได้พบต่ำกว่าการศึกษาอื่น โดยพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิตในช่วง induction phase ด้วย ภาวะ febrile neutropenia ดังนั้นควรมีการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายและผลการรักษาผู้ป่วยเพื่อวางแนวทางในการดูแลรักษาและเพิ่มระยะเวลารอดชีวิตของผู้ป่วย ตลอดจนนำข้อมูลไปทำการศึกษาวิเคราะห์ความคุ้มค่าในเชิงต้นทุน-ประสิทธิภาพ (Cost-effectiveness) ต่อไป
|