การศึกษาฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันของสารสกัดเสี้ยวแดงในการป้องกันการทำงานผิดปกติของไตและหลอดเลือดในหนูเบาหวาน

Titleการศึกษาฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันของสารสกัดเสี้ยวแดงในการป้องกันการทำงานผิดปกติของไตและหลอดเลือดในหนูเบาหวาน
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2551
Authorsพมมะวง ชาลีกาบแก้ว
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาเภสัชเคมีและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRS พ212
Keywordsน้ำตาลในเลือด, สารสกัดจากพืช--เภสัชฤทธิ์วิทยา, เบาหวานในหนู
Abstract

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญทำให้ร่างกายเกิดภาวะถูกออกซิไดซ์เกินสมดุลและก่อให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคแทรกซ้อนต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด และไต งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดหยาบใบเสี้ยวแดง ในการป้องกันการทำงานของไตและหลอดเลือดในหนูเบาหวาน รวมถึงศึกษาความเป็นยาพิษเบื้องต้น สกัดใบเสี้ยวแดงด้วย 90% ethanol โดยวิธี percolation และแยกสารกึ่งบริสุทธิ์ด้วย column chromatography ทำการทดสอบทางเภสัชเวทเบื้องต้นเพื่อหากลุ่มสาระสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากนั้นทำการศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันการทำงานผิดปกติของไตและหลอดเลือด ในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน ด้วย streptozotocin (70 mg/kg, iv.) ประเมินการทำงานของหลอดเลือดโดยการวัดค่าการหดตัวสูงสุดของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ตอบสนองต่อ phenylephrine และการทำงานของไตโดยการวัด blood urea nitrogen (BUN), serum creatinine (SCr) ทุก 2 สัปดาห์ และ creatinine clearance (ClCr) ในสัปดาห์ที่ 6 เปรียบเทียบตัวแปรต่าง ๆ ระหว่างหนูปกติ หนูเบาหวานควบคุม และหนูเบาหวานที่ได้รับสารสกัดหยาบใบเสี้ยวแดง (100 หรือ 200 mg/kg) หรือยาลดระดับน้ำตาลในเลือด glyburide (10 mg/kg) หรือสารต้านอนุมูลอิสระ vitamin E (300 mg/kg) ทุกวันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ การศึกษาพิษเฉียบพลันทำโดยการให้สารสกัดหยาบใบเสี้ยวแดงในขนาดต่าง ๆ ด้วยการป้อนและฉีดเข้าช่องท้องแก่หนูถีบจักรทั้งสองเพศ เพื่อหาค่า LD50 และการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังในหนูถีบจักรทำโดยป้อนสารสกัดในขนาดที่ไม่เป็นพิษติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ เปรียบเทียบน้ำหนักตัว น้ำหนักอวัยวะภายใน และค่าเคมีในเลือดระหว่างหนูที่ได้รับสารสกัดหยาบเสี้ยวแดงกับหนูกลุ่มควบคุม
ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดหยาบใบเสี้ยวแดงที่ได้คิดเป็น 23.45% ของน้ำหนักผงแห้งสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระแรงที่สุดมีค่า LC50=5.55?g/ml เมื่อทดสอบด้วย DPPH assay โดยสารประกอบหลักที่ออกฤทธิ์เป็นสารกลุ่ม flavonoids คิดเป็น 1.84% ของสารสกัดหยาบ ผลการประเมินการทำงานของไตพบว่า ระดับ BUN ของหนูกลุ่มเบาหวานควบคุมสูงกว่าหนูปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกสัปดาห์ ระดับ BUN ของหนูเบาหวานที่ได้รับ glyburide, vitamin E, glyburide + vitamin E, glyburide+BP 100 mg/kg และ Vitamin E+BP 100 mg/kg ต่ำกว่าหนูเบาหวานกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 2 (p<0.05) และในสัปดาห์ที่ 4 พบว่า ระดับ BUN ของหนูเบาหวานที่ได้รับเฉพาะ glyburide+vitamin E เท่านั้นที่ต่ำกว่าหนูเบาหวานควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มในสัปดาห์ที่ 6 ระดับ SCr ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติระหว่างหนูปกติและหนูเบาหวานในทุกสัปดาห์ หนูเบาหวานกลุ่มควบคุมมีค่า ClCr สูงที่สุดคือ 7.29?2.57 ml/min และสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลของการตอบสนองของหลอดเลือดต่อ phenylephrine พบว่า ค่าการหดตัวสูงสุดของหลอดเลือดแดงใหญ่ของหนูเบาหวานควบคุม (ร้อยละ 379.29?41.42) มีค่าสูงกว่าหนูปกติ (ร้อยละ 276.42?37.96) ค่าการหดตัวสูงสุดของหลอดเลือดแดงใหญ่ในหนูเบาหวานที่ได้รับ glyburide น้อยกว่าหนูเบาหวานกลุ่มควบคุมแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วน vitamin E และสารสกัดหยาบเสี้ยวแดงในขนาด 200 mg/kg สามารถลดค่าการหดตัวสูงสุดของหลอดเลือดแดงใหญ่ในหนูเบาหวานลงได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับหนูเบาหวานควบคุม (ร้อยละ 249.79?75.24 และ 277.13?99.69) ตามลำดับ การทดสอบพิษแบบเฉียบพลันของสารสกัดหยาบใบเสี้ยวแดงพบว่า การให้สารสกัดทางปากในขนาด 600 mg/kg แก่หนูถีบจักรทั้งเพศผู้และเพศเมียไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย (ค่า LD50>6000 mg/kg) และเมื่อให้โดยการฉีดเข้าช่องท้องพบว่า ขนาดยาที่ทำให้สัตว์ทดลองตายร้อยละ 50 มีค่ามากกว่า 4000 mg/kg ในหนูถีบจักรเพศผู้ (LD50>4000 mg/kg) และมีค่าเท่ากับ 2765.5 mg/kg ในหนูถีบจักรเพศเมีย (LD50=2765.5 mg/kg) ผลการศึกษาความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังไม่พบความผิดปกติทางอาการ พฤติกรรม สุขภาพ และการเจริญเติบโตเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม น้ำหนักตัวสัตว์ทดลอง น้ำหนักอวัยวะ ระดับเอนไซม์ ALT, AST, ALP ในซีรัม BUN และ Scr มีค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเสี้ยวแดงและกลุ่มควบคุม
จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดใบเสี้ยวแดงมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระที่แรงในหลอดทดลอง แต่มีความสามารถในการป้องกันการทำงานผิดปกติของไตและหลอดเลือดในหนูเบาหวานปานกลาง อย่างไรก็ตามสารสกัดใบเสี้ยวแดงจัดว่าปลอดภัยและไม่มีพิษเมื่อทดสอบในสัตว์ทดลอง

Title Alternate A Study of antioxidative effect of Bauhinia penicillioba extracts on the protection of vascular and kidney dysfunctions in diabetic rats