Title | การศึกษาเม็ดลูกรัง (หินแห่) ในภาคอีสานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับงานตกแต่ง |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2551 |
Authors | อาคม เสงี่ยมวิบูล |
Degree | ศิลปะประยุกต์ดุษฎีบัณฑิต--สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ |
Institution | คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | NK อ591ก |
Keywords | การออกแบบเครื่องเรือน, ผลิตภัณฑ์, ลูกรัง--การออกแบบตกแต่ง, หิน--การออกแบบตกแต่ง, หินประดับ, หินลูกรัง, หินแห่, เครื่องเรือน |
Abstract | การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการนำเม็ดลูกรังมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จากเม็ดลูกรังที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติที่นิยมใช้ในการก่อสร้างเส้นทางจราจร โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องเหมาะสมกับกระบวนการผลิตในท้องถิ่นและเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุจากธรรมชาติให้เกิดความหลากหลายทางด้านความคิดและจินตนาการ มีความสวยงามตรงตามความต้องการของผู้บริโภค โดยสำรวจแหล่งลูกรังหรือหินแห่ที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างทางจราจรทั้งหมด 64 แหล่ง พบว่า แหล่งลูกรังส่วนใหญ่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่สูงและที่รกร้างไม่ปรากฏการทำกสิกรรม เม็ดลูกรังมีขนาด 1/5-1/4 นิ้ว ลักษณะเม็ดกลมมนและมีสีคล้ายสนิมเหล็กเนื่องจากมีธาตุเหล็กผสมอยู่ในปริมาณสูง โดยพบว่า แหล่งลูกรังจากบ้านโพนงาม ตำบลโพนงาม อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีค่าน้ำหนักของเม็ดลูกรังต่อปริมาตรสูงที่สุดเฉลี่ย 1,623.18 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และแหล่งลูกรังจากบ้านกุดกว้าง ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีค่าร้อยละของน้ำหนักเม็ดลูกรังต่อน้ำหนักลูกรังสูงสุด ร้อยละ 92
การทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของเม็ดลูกรังกับวัสดุประสานทั่วไปที่สามารถหาได้ง่าย ได้แก่ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ขาว ปูนปลาสเตอร์ ยิปซั่ม โพลีเอสเตอร์เรซิ่น และซีเมนต์กาว พบว่า ค่าการรับกำลังอัดสูงสุดมีค่ามากขึ้นเล็กน้อยเมื่อขนาดของเม็ดลูกรังเล็กลง ค่าการรับกำลังอัดสูงสุดของเม็ดลูกรังกับวัสดุประสานจากมากไปหาน้อย ได้แก่ โพลีเอสเตอร์เรซิ่น ปูนซีเมนต์ขาว ปูนปลาสเตอร์ ปูนยิปซั่ม และซีเมนต์กาว ค่าร้อยละการดูดซึมน้ำเฉลี่ยลดลงเมื่อขนาดของเม็ดลูกรังเล็กลงในทุกส่วนผสมและค่าร้อยละการดูดซึมน้ำเฉลี่ยสูงสุดจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ปูนซีเมนต์ขาว ปูนซีเมนต์ผสม ปูนยิปซั่ม ปูนปลาสเตอร์ ซีเมนต์กาว และโพลีเอสเตอร์เรซิ่น และค่าการสูญเสียมวลเฉลี่ยสูงสุดจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ซีเมนต์กาว ปูนยิปซั่ม ปูนปลาสเตอร์ ปูนซีเมนต์ขาว ปูนซีเมนต์ผสมและโพลีเอสเตอร์เรซิ่น การทดลองขึ้นรูปผลิตภัณฑ์จะใช้กรรมวิธีการหล่อและการกดพิมพ์ ที่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์หรือชิ้นงานลักษณะนูนต่ำ นูนสูง และลอยตัว ซึ่งมีขบวนการผลิตที่ง่ายในแบบงานหัตถกรรมโดยผู้คนในท้องถิ่น สามารถนำไปผลิตและพัฒนาได้เอง พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอัตราส่วนผสม เม็ดลูกรัง : ดินลูกรัง : ปูนซีเมนต์ผสม มีสัดส่วน 70:20:10 สามารถรับแรงได้ดี มีความทนทานสูง และยึดติดกับพื้นผิวอื่นได้ดี จากการศึกษาแนวทางในการออกแบบผลิตภัณฑ์จากเม็ดลูกรังที่เหมาะสมคือ ผลิตภัณฑ์สำหรับการตกแต่ง ซึ่งผู้วิจัยได้ทดลองขึ้นรูปผลิตภัณฑ์จากเม็ดลูกรัง จำนวน 3 กลุ่ม คือ (1) ผลิตภัณฑ์ประดับตกแต่งประเภทรับน้ำหนัก ประเภทแจกันจำนวน 9 แบบ และประเภทโคมไฟ 2 แบบ (2) ผลิตภัณฑ์ประเภทรับน้ำหนัก ประเภทเฟอร์นิเจอร์เก้าอี้จำนวน 2 แบบ และประเภทโต๊ะจำนวน 1 แบบ (3) ผลิตภัณฑ์ประดับตกแต่งประเภทของที่ระลึกจำนวน 7 แบบ จากการประเมินพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบแปลกใหม่สวยงามตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน สะดวก ปลอดภัยต่อการใช้งานและดูแลรักษาง่าย สามารถสร้างมูลค่าให้แก่วัตถุดิบใหม่ที่เกิดจากการใช้วัสดุประสานกับเม็ดลูกรัง สามารถประยุกต์เพื่อผลิตและพัฒนาได้เองในท้องถิ่นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุจากธรรมชาติ
|
Title Alternate | The study of Isan's laterite for decoration product |