บทบาทผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน : กรณีศึกษาบ้านชาด ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี

Titleบทบาทผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน : กรณีศึกษาบ้านชาด ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2551
Authorsอิทธิศักดิ์ พลศรี
Degreeศิลปศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา
Institutionคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHM อ728
Keywordsชุมชน--การบริหาร--อุบลราชธานี, ผู้นำชุมชน--อุบลราชธานี
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่และคุณลักษณะผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน 2) เพื่อศึกษากระบวนการทำงานของผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน 3) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคของผู้นำและข้อเสนอแนะในการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้นำชุมชนในอนาคต การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยทำการสัมภาษณ์เจาะลึกจากผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นผู้ให้ข้อมูลคนสำคัญ จำนวน 15 คน นอกจากนั้นยังเก็บข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนเข้าสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมบางช่วงบางเวลาจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาจัดระเบียบข้อมูลโดยจำแนกประเภทออกเป็นหมวดหมู่ตามวัตถุประสงค์การศึกษาและนำมาวิเคราะห์ควบคู่กับบริบทพร้อมทั้งใช้สถิติเชิงพรรณนาประกอบในการวิเคราะห์เพื่อความสมบูรณ์ชัดเจน
ผลการศึกษาพบว่า การที่ชุมชนเข้มแข็งได้นั้นผู้นำชุมชนเป็นผู้มีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็ง โดยผู้นำเป็นผู้ประสานงานทั้งภายในและภายนอกขององค์กร เป็นผู้จัดให้มีการศึกษาอบรมและดูงาน ผู้นำเป็นผู้พาทำและทำเป็นตัวอย่าง ผู้นำเป็นผู้ที่มีบทบาทในการควบคุมความสัมพันธ์ภายในกลุ่มผ่านกรรมการและสมาชิก เป็นผู้ให้คุณให้โทษแก่สมาชิก ผู้นำมีบทบาทเป็นผู้ริเริ่มและกระตุ้นให้สมาชิก/ชุมชนอยากกระทำ ผู้นำทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้สร้างศรัทธาให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของกลุ่ม/ชุมชน
คุณลักษณะของผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ผู้นำต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นผู้เสียสละ ผู้นำจะต้องเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใสในการทำงาน เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง เป็นผู้ที่มีคุณธรรม เป็นผู้กล้าคิดกล้าตัดสินใจ เป็นผู้ที่ มีบุคลิกที่น่าเชื่อถือศรัทธา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีมนุษยสัมพันธ์ดีและประสานงานได้ทั้งภายในและภายนอก
กระบวนการการทำงานของผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนนั้นผู้นำใช้หลักคิดในเรื่องความสามัคคี ความเอื้ออาทรต่อกัน รวมทั้งให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมชุมชนที่ทำกันมาช้านาน จึงได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ชุมชนร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยเฉพาะหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นมี 2 ลักษณะด้วยกัน คือ
(1)การมีส่วนร่วมของชุมชนที่มีต่อผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ชาวบ้านจะร่วมคิดร่วมทำกับผู้นำตั้งแต่ขั้นตอนแรกและร่วมสนับสนุนด้านความคิด กำลังกาย กำลังทรัพย์ ชุมชนจะมีส่วนร่วมในการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้ประชามติ หลังจากนั้นชาวบ้านจะร่วมดำเนินการ โดยเป็นสมาชิกกลุ่ม เป็นกรรมการบริหารกลุ่มและเป็นกลุ่มผู้นำกลุ่ม เพื่อบริหารจัดการให้ชุมชนเกิดความร่วมมือ จนเป็นชุมชนเข้มแข็งในที่สุด
(2)การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้นำในการสร้างความเข็มแข็งของชุมชน ผู้นำเป็นผู้ให้โอกาสแก่ชุมชนในการร่วมคิดร่วมทำมีการประชุมเพื่อหาความเห็นชอบของเสียงส่วนใหญ่หรือหาประชามติ เปิดโอกาสให้สมาชิกและกรรมการกลุ่มเกิดความรู้สึกว่าอยากจะทำและมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ เมื่อสมาชิกดำเนินการแล้วมีผลกำไรสมาชิกจะแบ่งผลประโยชน์ภายในกลุ่ม ผู้นำจะเป็นผู้ให้ข้อมูลทั้งภายในและภายนอกแก่ชุมชนเพื่อให้ชุมชนได้รับรู้ร่วมกัน
ปัญหาและอุปสรรคในการเป็นผู้นำ พบว่ามีทั้งด้านตัวบุคคลและกระบวนการวิธีการด้านตัวบุคคลมีความสัมพันธ์กับความพร้อมของผู้นำทั้งฐานะทางการเงินและเวลาที่จะอุทิศให้กับส่วนรวม นอกจากนั้นยังมีด้านคุณลักษณะของตัวผู้นำเช่น ด้านความรู้ความสามารถและอุปนิสัยใจคอของ
ผู้นำตลอดจนภาวะความเป็นผู้นำ ส่วนด้านกระบวนการวิธีการปัญหาอุปสรรคของผู้นำมีตั้งแต่การบริหารจัดการ การขาดความรู้ความชำนาญก่อให้เกิดการขาดคุณภาพและไม่ทันเวลา
ข้อเสนอแนะในการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาผู้นำในอนาคต มีทั้งด้านตัวบุคคลเกี่ยวกับความพร้อมของผู้นำและคุณลักษณะของตัวผู้นำ และด้านกระบวนการวิธีการเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการศึกษาดูงาน
ข้อเสนอแนะของผู้วิจัยในครั้งนี้ที่สำคัญคือ การพัฒนาคนโดยเฉพาะผู้นำที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ควรสร้างองค์ความรู้ (กระบวนการเรียนรู้) ของชุมชนในการบริหารจัดการกลุ่มและการตั้งเครือข่าย ควรเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน การพัฒนาควรจะสอดรับกับวัฒนธรรมชุมชนและภูมิปัญญายึดติดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ผู้นำควรจะได้รับการเสริมสร้างและพัฒนาความเป็นผู้นำอยู่ตลอดเวลา ควรเปิดโอกาสให้ผู้นำรุ่นใหม่ได้มีโอกาสในการทำงาน

Title Alternate The role of leader in relation to the strengthening community : a study of Ban Chad tambon Namtang Srimuengmai district Ubonrachathni province
Fulltext: