การศึกษางานหัตถกรรมจักสานชนเผ่าลาวเทิงเพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย

Titleการศึกษางานหัตถกรรมจักสานชนเผ่าลาวเทิงเพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2551
Authorsประทับใจ สิกขา
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberNK ป274ก
Keywordsการออกแบบผลิตภัณฑ์, การออกแบบเครื่องเรือน--ลาว, งานไม้ไผ่--ลาว, ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย, ลาว--ความเป็นอยู่และประเพณี, ลาวเทิง, หัตถกรรม--ลาว, หัตถกรรมเครื่องจักรสาน, เครื่องจักสาน--ลาว
Abstract

งานหัตถกรรมจักสานชนเผ่าลาวเทิงเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย มีความประณีตสวยงาม และมีประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่า ผู้วิจัยเล็งเห็นว่า ชนเผ่าลาวเทิงมีภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดในการเลือกใช้วัสดุในท้องถิ่นมาผลิตเป็นสิ่งของเครื่องใช้ รวมทั้งมีลักษณะของการสืบทอดที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม แสดงออกถึงอัตลักษณ์เฉพาะชนเผ่า จึงได้นำมากำหนดเป็นวัตถุประสงค์ในการวิจัน 3 ประการ ดังนั้น 1) เพื่อศึกษาความเป็นมาของชาติพันธุ์ วิถีชีวิต และรวบรวมงานหัตถกรรมจักสานชนเผ่าลาวเทิง 2) เพื่อศึกษากระบวนการผลิต ลวดลายการสาน การให้สี ในแง่ของการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพวัสดุและกระบวนการผลิต และ 3) เพื่อออกแบบและพัฒนางานหัตถกรรมจักสานชนเผ่าลาวเทิงให้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ จำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มสำหรับการศึกษาข้อมูลงานหัตถกรรมจักสาน ซึ่งเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 แขวงทางตอนใต้ของ สปป.ลาว 2)กลุ่มสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยได้แก่ ผู้ซื้อ ผู้จำหน่าย และผู้ผลิตงานหัตถกรรมจักสาน กลุ่มตัวอย่างผู้วิจัยใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง โดยคำนึงถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ และความหลากหลายที่ครอบคลุมตามเนื้อหาในการวิจัย
ผลการวิจัยสามารถจำแนกออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ 1) ส่วนของการศึกษาความเป็นมาของชาติพันธุ์ วิถีชีิวิต และรวบรวมงานหัตถกรรมจักสานชนเผ่าลาวเทิง พบว่า ชนเผ่าลาวเทิง เป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบสูงและเขตภูดอย มีการดำเนินชีวิตแบบเกษตรกรรมที่พึ่งพิงธรรมชาติมีวัฒนธรรมการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ และมีลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึง เช่น การนับถือผี การสูบกอก การดื่มเหล้า การทอผ้าด้วยกี่เอว และการใช้งานหัตถกรรมจักสาน ซึ่งผู้วิจันจำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องใช้อเนกประสงค์ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือดักจับและขังสัตว์ เครื่องใช้ตามความเชื่อและในพิธีกรรม และเครื่องใช้อื่น ๆ 2) ส่วนของการพัฒนาคุณภาพวัสดุและกระบวนการผลิต พบว่า การให้สีที่เกิดจากการรมควัน เมื่อนำมาทดลองโดยใช้วัสดุในการรวมควันต่างชนิดกัน ให้ผลของสีที่เกิดจากการรวมควันแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังสามารถนำส่วนของใบ เปลือก หรือ ผล จากพืชบางชนิดมาถู แช่หมักในน้ำหรือต้ม มาใช้ในการให้สีผลิตภัณฑ์จักสานได้ด้วย และเพื่อให้เกิดการประหยัดเชื้อเพลิง มีความปลอดภัยต่อผลิตภัณฑ์จักสาน ผู้วิจัยได้ออกแบบและพัฒนาเตารมควันแบบประหยัดพลังงาน โดยคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ในการผลิต ต้นทุนซึ่งชาวบ้านสามารถนำไปใช้ได้เอง และ 3)ส่วนของการออกแบบและพัฒนางานหัตถกรรมจักสานชนเผ่าลาวเทิงให้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการผลิตและความต้องการทางการตลาดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) ประเภทเครื่องใช้และของตกแต่ง และ 2)ประเภทของที่ระลึก จากผลการศึกษาดังกล่าวสรุปได้ว่า แนวทางการประยุกต์ใช้งานหัตถกรรมจักสานชนเผ่าลาวเทิงเพื่อใช้ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ควรคำนึงถึงแนวคิดในการออกแบบ 3 ด้าน ดังนี้ 1)ด้านคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม ประกอบด้วย อัตลักษณ์เฉพาะถิ่น และการบอกเล่าเรื่องราว หรือแหล่งที่มา 2) ด้านค่านิยม และความต้องการของผู้บริโภค และ 3) ด้านหลักการออกแบบงานหัตถกรรมจักสาน ประกอบด้วย ประโยชน์ใช้สอย การเลือกใช้วัสดุ การใช้ลายเพื่อสร้างรูปทรงผลิตภัณฑ์ การให้สี ความคงทนแข็งแรง และการสร้างสรรค์ความงาม ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลองและประเมินผลการออกแบบตามแนวคิดทั้ง 3 ด้าน ไว้เป็นแนวทาง ดังเอกสารแนบท้ายการวิจัย

Title Alternate A study of Lao Theung wickerwork for contemporary products design and development