วัดหลวง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานีที่สร้างโดย พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) หรือญาเฒ่าหลวง เจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่องค์หลวง และพระแก้วไพฑูรย์ หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดจะมีวิหารวัดหลวง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่เลียนแบบมาจากวัหารของวัดเชียงทองที่หลวงพระบาง ประเทศลาว ซึ่งปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว
ประวัติวัดหลวง อุบลราชธานี
วัดหลวงเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดอุบลราชธานี ผู้สร้างคือ พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ที่ตั้งติดกับที่พักอาศัยของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ซึ่งชาวเมืองอุบลจะเรียกว่า คุ้มญาหลวงหรือคุ้มโฮงกลาง เหตุที่ชื่อวัดหลวงนั้นเรียกตามชื่อพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ที่เรียกกันว่า “ญาหลวงเฒ่า” ในอดีตนั้นวัดหลวงเป็นสถานที่ประชุมทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาก่อนที่จะมีวัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดถูกสร้างขึ้นปี พ.ศ. 2334 ภายในวัดเสนาสนะที่สร้างล้วนวิจิตรงดงามด้วยศิลปะการแกะสลักปิดทองลงรักประดับกระจกศิลปกรรมแบบหลวงพระบาง ทั้งพระประธาน หอไตร เจดีย์ธาตุ ศาลาการเปรียญ สิมอุโบสถ หอกลอง หอระฆัง กุฎิสงฆ์ หอปราสาทธรรมาสน์ แต่ปัจจุบันถูกรื้อถอนออกหมดแล้วด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พระพุทธรูปสำคัญของวัดหลวง คือ พระสำริดปางห้ามญาติ พระไม้จันทร์ปางห้ามญาติ พระทรงเครื่องกษัตริย์ พระพุทธรูปแบบล้านช้าง พระแก้ว แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปบ้างแล้วเช่นกัน
พระเจ้าใหญ่องค์หลวง วัดหลวง
พระเจ้าใหญ่องค์หลวง เป็นพระประธานที่ประดิษฐานอยู่บนศาลาการเปรียญหรือวิหารพระเจ้าใหญ่องค์หลวงของวัดหลวง พุทธลักษณะปางเรือนแก้ว พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบในซุ้มเรือนแก้ว พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้พระธรณี
พระพุทธรูปปางเรือนแก้วนี้ในพุทธตำนานอธิบายความไว้ว่า ในสัปดาห์ที่ 4 หลังตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จจากรัตนจงกรมเจดีย์ไปประทับในเรือนแก้ว (รัตนคฤห) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเทพยดาเนรมิตถวาย เพื่อทรงพิจารณาพุทธธรรม ในกำหนด 7 วัน จนบังเกิดเป็นประภาวลี (รัศมีที่แผ่ออกจากกายสำหรับบุคคลมีบุญญาธิการ หรือพระพุทธรูป) สถานที่ดังกล่าวจึงมีชื่อ “รัตนฆรเจดีย์” พระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปประจำเดือน 7
พระแก้วไพฑูรย์ วัดหลวง
พระแก้วไพฑูรย์ หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี พุทธลักษณะปางสมาธิ พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนทับกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางลงบนพระหัตถ์ซ้าย เป็นพระแก้วที่สร้างจากหินใสธรรมชาติที่มีอายุหลายร้อยปี ช่างแกะหินใสองค์นี้ไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ แต่จากหลักฐานและคำบอกเล่าทราบว่า พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในการปกครองของเจ้านายเมืองอุบลมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ถวายเป็นสมบัติของวัดหลวงคู่กับพระแก้วบุษราคัม เมื่อเจ้านายทางกรุงเทพฯ มาปกครองเมืองอุบลฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้านายพื้นเมืองอุบล เกรงว่าเจ้านายจะบังคับเอาพระแก้วทั้งสองไปเป็นสมบัติส่วนตัวจึงได้นำเอาพระแก้วทั้งสององค์แยกออกจากกันไปซ่อนไว้โดยมิดชิดไม่ยอมแพร่พรายให้ใครรู้
ต่อมาเมื่อสร้างวัดศรีทองหรือวัดศรีอุบลรัตนาราม เจ้าอุปฮาดโท บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) จึงได้ไปอัญเชิญพระแก้วทั้งสององค์ออกมาจากที่ซ่อน โดยนำพระแก้วบุษราคัมไปถวายให้แด่พระคุณเทวธัมมี (ม้าว) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศรีทอง และเป็นสัทธิวิหาริกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 มาจากกรุงเทพฯ คงมีความเกรงใจ จึงไม่กล้าที่จะขอเอาพระแก้วบุษราคัม และพระแก้วไพฑูรย์ไปจากเมืองอุบลราชธานี
ส่วนพระแก้วไพฑูรย์นั้น ทายาทของเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี นำไปเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติล้ำค่าของบรรพบุรุษ ต่อมาภายหลังได้นำมาถวายแต่พระครูวิลาสกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดหลวง จึงกลายเป็นสมบัติของวัดหลวง และประดิษฐานไว้ ณ วัดหลวง ตราบมาจนปัจจุบัน จึงนับได้ว่า พระแก้วไพฑูรย์องค์นี้ เป็นสมบัติของวัดหลวงและเจ้าเมืองอุบลราชธานีมาตั้งแต่สมัยโบราณโดยแท้
พระแก้วไพฑูรย์ เป็นหนึ่งในแก้วอันเป็นรัตนชาติ ลักษณะของเนื้อองค์พระจะสีใสขุ่น หากยกองค์พระแล้วส่องดูใต้ฐานจะมองเห็นคล้ายสายฝนหยดลงมาจากฟ้า อันเป็นนิมิตแห่งความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล
หนังสืออ่านเพิ่มเติม : วัดหลวง พุทธศาสตร์ศึกษาแห่งเมืองอุบลราชธานี : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า
ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดหลวง
ที่ตั้ง วัดหลวง
เลขที่ 95 ถนนพรหมเทพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดหลวง
15.224909, 104.860374
บรรณานุกรม
ขนิษฐา ทุมมากรณ์. ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองอุบล, วันที่ 22 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/picture.
งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (2547). วัดหลวง พุทธศาสน์ศึกษาแห่งอุบลราชธานี : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า. อุบลราชธานี: สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
ท่องธารธรรม ตามมูนเมืองอุบล แหล่งธรรมะและธรรมชาติ. (2553). อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
ประวัติศาสตร์และโบราณคดีอุบลราชธานี. (2531). เอกสารการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดี อุบลราชธานี 26-28 กันยายน 2531 ณ หอประชุมอาคารหอสมุด วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.
มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon.
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.
สุริยา โชคสวัสดิ์ และสุพัฒน์ เงาะปก. (2552). วัดหลวง อุบลราชธานี. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.