วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หรือวัดใต้เทิง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งที่เคยเป็นวัดฝ่ายวิปัสสนาธุระของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ พระพุทธรูปสำคัญที่ประชาชนให้ความเลื่อมในเคารพศรัทธษ หนึ่งในห้าพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อที่ประดิษฐานอยู่ในประเทศไทย นอกจากนั้นภายในวัดยังมีโบราณวัตถุเป็นหลักศิลาจารึกหินทราย 2 หลัก วิหารเฉลิมพระเกียรติ 200 ปี และเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ

ซุ้มประตูวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
ซุ้มประตูวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อุบลราชธานี

ประวัติวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อุบลราชธานี

วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หรือวัดใต้เทิง สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ มีประวัติเล่าว่าในสมัยพระเจ้าพระพรหมราชวงศา (ทิดพรหม) พระมหาราชครู (เจ้าหอแก้ว) ได้มานั่งปฏิบัติธรรมฐานอยู่บริเวณเหนือแม่น้ำมูลเป็นประจำ เจ้าครองเมืองพร้อมด้วยไพร่บ้านพลเมืองได้มาสร้างสำนักสงฆ์ให้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระมหาราชครูเจ้าหอแก้ว เรียกว่า วัดใต้ท่า บริเวณตอนบนเรียกวัดใต้เทิง เขตวัดทั้งสองติดกันเพียงแค่มีถนนกั้น ในสมัยเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นผู้ครองสังฆมณฑล ได้นำวัดใต้ท่าไปรวมกับวัดใต้เทิง ชาวบ้านทั้งสองคุ้มวัดได้แสดงถึงความสามัคคีกันจึงได้มีมติ ตกลงกันเรียกว่า “วัดใต้” ปัจจุบันคำว่า “เทิง” ได้ เลือนหายไป คำว่า เทิง เป็นภาษาอีสานมีความหมายว่า บน หรือ เหนือ อยู่สูง อยู่บนขึ้นไป วัดใต้เทิง คือ วัดที่อยู่เหนือขึ้นไป ถัดไปจากวัดใต้ท่าที่ตั้งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำมูล

วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อนั้นเคยเป็นวัดฝ่ายวิปัสสนาธุระของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดิมมีหาดทรายขาวสะอาดยาวเหยียดเป็นที่ท่องเที่ยว เรียกว่า หาดวัดใต้ ต่อมามีการดูดทรายขาย หาดทรายจึงจมหายไปอย่างน่าเสียดาย

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ เช่น พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร 4 องค์ พระพุทธรูปเจตมูนเพลิงองค์ตื้อ (สีดำสนิท) อีก 1 องค์

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อุบลราชธานี

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นพระประธานในอุโบสถเป็นทองนาคสำริด หนักเก้าแสนบาท  พุทธลักษณะเป็นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูง 85 นิ้ว (มีผู้สันนิษฐานว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งเวียงจันทน์เป็นผู้สร้าง) พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ มีความสำคัญเป็น 1 ใน 5 องค์ในจำนวนพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งอีก 4 องค์ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ชัยภูมิ หนองคาย และวัดพระโต อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี และที่ประเทศลาวอีก 1 องค์

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดใต้
ภาพพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ก่อนจะบูรณะ

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เดิมประดิษฐานอยู่บนแท่นพระอุโบสถหลังเก่า ฐานรองรับสูง 70 เซนติเมตร สร้างแบบง่าย ๆ ภายหลังอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรม พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อจึงอยู่กลางแจ้ง ตากแดด ตากฝน เป็นเวลานานทำให้องค์พระพุทธรูปองค์ตื้อมีรอยแตกเป็นสะเก็ดออกมา คนเก่าแก่ในสมัยนั้นได้บอกเล่าสืบต่อกันมาว่า “… พระพุทธรูปองค์ตื้อนี้ได้ถูกหุ้มห่อทาปอมพอกเอาไว้ พอกด้วยเปลือกไม้ ยางบด ผสมผงอิฐเจ และทองคำ เงิน นาก สัมฤทธิ์ เงิน รางกาชาดซะพอก ให้น้ำเกลี้ยง น้ำชาดผสมทาปอมพอก แล้วลงรักปิดทองที่เข้าเมืองอุบลราชธานี และเถราจารย์ในสมัยนั้น เพราะเป็นสมบัติล้ำค่าที่ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ ซึ่งองค์พระพุทธรูปเป็นทองแท้สัมฤทธิ์กลัวว่าจะถูกข้าศึกศัตรูขนเอาไป จึงได้ทาปอมพอกปิดเอาไว้ และปล่อยทิ้งเป็นวัดร้างนานถึง 200 ปี…”

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดใต้
พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิมไว้

ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2507-2508 พระภิกษุสวัสดิ์ ทัสสนีโย และพระราชธรรมโกศล เจ้าอาวาสวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อในขณะนั้น ได้ทำการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2519 เมื่อสร้างฐานแท่นพระพุทธรูปพระประธานเสร็จจึงได้ยกพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อขึ้นประดิษฐานที่แท่นจนถึงปัจจุบันนี้

พระราชธรรมโกศล วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
ภาพเขียนพระราชธรรมโกศล เจ้าอาวาสวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

พระอุโบสถพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

พระอุโบสถมณฑปเพชรเจ็ดแสงพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นสาถปัตยกรรมที่ประกอบด้วยศิลปกรรม 3 ชาติ รวมอยู่ในหลังเดียวกัน กล่าวคือ ส่วนหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ ส่วนช่อ ฟ้าใบระกา เป็นศิลปะขอมผสมเวียดนาม (ช่างไทยเวียดนาม) ส่วนฐานเป็นศิลปะไทยภาคอีสาน ขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร หน้าต่าง 5 ช่อง ประตู 2 ประตู เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2509 จัดงานฉลองพิธีผูกพัทธสีมา วันที่ 1-5 มีนาคม พ.ศ. 2523 ผู้อำนวยการก่อสร้างคือ พระศรีจันทรคุณ (กันตสีโล ศรีจันทร์ โสวรรณี ) พระปลัดสวัสดิ์ ทัสสนีโย (ตามสีวัน ) ผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง

พระอุโบสถวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
พระอุโบสถพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

พระอุโบสถมีการตกแต่งซุ้มขอบประตูหน้าต่างด้วยสีทอง แต่คงไว้ด้วยความเรียบของผนังด้านนอก ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ด้านหลังพระเจ้าใหญองค์ตื้อองค์พระประธานเป็นภาพพระศรีมหาโพธิ์ แลดูคล้ายพระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ ผนังทุกด้านเขียนภาพจิตรกรรมพุทธประวัติและทศชาติชาดก

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

ที่มุมด้านข้างของพระอุโบสถ จะเห็นองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง ได้แก่ รูปปูนปั้น มียักษ์ยืนอยู่ 2 ข้าง มีท้าวจตุคาม-รามเทพ ภายในมณฑปมีพระอุปคุต ผู้คนที่มากราบไหว้พระที่วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อจะจุดธูปเทียนกันที่มณฑปนี้ ส่วนภายในอุโบสถอนุญาตให้ไหว้พระได้เท่านั้น

มณฑปเพชรเจ็ดแสงพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
มณฑปเพชรเจ็ดแสงพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ที่อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ

หลักจารึกหินทราย วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

บริเวณสองข้างของอุโบสถวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จะมีหลักศิลาจารึกเป็นหินทรายตั้งอยู่ ที่ฐานของหลักจารึกมีข้อมูลชี้แจงว่า

จารึกหลักที่ 1 อบ.13 วัดใต้ “เทิง” อักษรธรรมอีสาน วัตถุจารึกไม้ ประเภทสักทอง ลักษณะรูปใบเสมา กว้าง 55 ซ.ม. สูง 143 ซ.ม. หนา 9 ซ.ม. จารึกอักษรจำนวน 1 ด้าน มี 41 บรรทัด พุทธศตวรรษที่ 19-23 พุทธศักราฃ 2373 จุลศักราช 1192 ตัว รัชกาลที่ 3 ปีที่ 7 ปีขาล ร.ศ. 49 ค.ศ. 1830-1 ปีกดยี่ มีสมเด็จฯ อรรควรราชครูปุสสึตธรรมวงศาเจ้า สมเด็จเจ้าพระพรหมบวรราชวงศาภูมินทร์ เจ้าแผ่นดินในเมืองอุบลราชธานี เป็นประธาน นิพฺพาน ปจฺจโยโหตุ นิจฺจํ ทุวํ ทฺวํ ท่านหัวเจ้าครูแก้วกับเณรพุทธา เป็นผู้เขียน แลฯ

จารึกหลักที่ 2 อบ. 14 วัดใต้ “เทิง” เป็นอักษรธรรมอีสาน วัตถุจารึกศิลาประเภทหินทรายสีแดง ลักษณะรูปใบเสมา กว้าง 67 ซม. สูง 82 ซม. หนา 7 ซม. มีจารึก 1 ด้าน 19 บรรทัด ในราวพุทธศตวรรษที่ 19-24 พุทธศักราช 2377 รัชกาลที่ 3 ปีที่ 11 ปีมะเมีย ร.ศ.53 ค.ศ. 1834-5 ปีกาบสง้า วันพฤหัสบดีแรม 1 ค่ำ เดือน 3 มีสมเด็จฯ อรรควรราชครูปุสสีตธรรมวงศาเจ้า สมเด็จเจ้าพระพรหมมวรราชวงศาภูมินทร์ เจ้าแผ่นดินในเมืองอุบลราชธานี เป็นประธาน นิพฺพาน ปจฺจโยโหตุ นิจฺจํ ทุวํ ทุวํ ท่านเจ้าครูแก้วกับเณรพุทธา เป็นผู้เขียน แลฯ

หลักศิลาจารึกหินทราย วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
หลักจารึกหินทรายทั้งสองหลักที่อยู่ด้านซ้ายและขวาของพระอุโบสถ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

วิหารเฉลิมพระเกียรติ 200 ปี วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

วิหารเฉลิมพระเกียรติ 200 ปี เป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน คือ พระพุทธมงคลรัตนสิริธัญสถิต วิหารมีขนาดสูงใหญ่ ตกแต่งด้านหน้าด้วยงาช้างคู่ก่ออิฐถือปูน ภายในมีงานจิตรกรรมเขียนเรื่องราวใเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตั้งอยู่ด้านขวาของพระอุโบสถพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

วิหารเฉลิมพระเกียรติ 200 ปี วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
วิหารเฉลิมพระเกียรติ 200 ปี และพระพุทธมงคลรัตนสิริธัญสถิต พระประธานในวิหาร

เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ ของวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ภายในเจดีย์เป็นที่สถานที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปเก่าแก่ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระแก้วจักรพรรดิโกเมน พระแก้วจักรพรรดิมรกต พระแก้วจักรพรรดิบุษราคัม และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ

พระพุทธรูปในเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
พระพุทธรูปในเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
บรรยากาศวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
บรรยากาศภายในบริเวณวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ


ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

ที่ตั้ง วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

เลขที่ 2 ถนนสุนทรวิมล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

15.226884, 104.866947

บรรณานุกรม

ทัวร์ออนไทยดอทคอม. วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ, วันที่ 28 มกราคม 2558. http://www.touronthai.com/วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ-62000048.html#.VMitp2jK6t8.

มะลิวัลย์ สินน้อย, (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon.

มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple.

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง