วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นวัดต้นกำเนิดของสายวิปัสสนากรรมฐานแบบอีสาน ด้วยว่ามีพระอาจารย์สีทา ชัยเสโน ผู้เป็นพระอาจารย์ของพระสงฆ์สายนี้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่เป็นประจำ จนมีอาจารย์และลูกศิษย์สืบทอดกันมาหลายรุ่น ได้แก่ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ขาว หลวงปู่สิงห์ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ดุล และพระอาจารย์ฝั่น อาจาโร เป็นต้น ภายในวัดมีงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นให้เรียนรู้นั่นคือ หอไตรคู่ ซึ่งเป็นหอไม้ทรงสูง 2 หลัง ที่สร้างไว้คู่กัน ใช้สำหรับเก็บคัมภีร์หรือพระไตรปิฎก และมีสิมเก่าที่ยังหลงเหลือไว้ให้ศึกษางานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและเป็นที่ประดิษฐานของพระบูรพาจารย์ 5 องค์
ประวัติวัดบูรพาราม อุบลราชธานี
วัดบูรพาราม เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของเมืองอุบล ด้วยว่าพระอาจารย์สีทา ชัยเสโนจากวัดศรีอุบลรัตนารามหรือวัดศรีทอง และวัดเลียบนั้นจะมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่ป่าทางทิศตะวันออกของเมืองเป็นประจำ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ในสมัยนั้น ทรงมีศรัทธาในพระอาจารย์สีทา ชัยเสโน มาก จึงรับสั่งให้เจ้าพนักงานของเมืองอุบลไปถางป่าออกและสร้างวัดขึ้น โดยให้นามว่า วัดบูรพาราม เป็นสำนักของพระอาจารย์สีทา ชยเสโน แต่นั้นมา พระอาจารย์สีทา ชัยเสโนนี้เป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ก็เป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตก็เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่ขาว หลวงปู่สิงห์ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ดุล พระอาจารย์ฝั่น อาจาโร วัดบูรพารามจึงเป็นวัดต้นกำเนิดสายวิปัสสนากรรมฐานแบบอีสาน
ปัจจุบันทางวัดบูรพารามได้สร้างรูปหล่อเหมือนพระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน 5 องค์ ไว้ เพื่อให้ลูกหลานได้กราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคล ประดิษฐานอยู่ที่สิมเก่าซึ่งเป็นฝีมือการก่อสร้างของพระอาจารย์สีทา ชัยเสโนและอาจารย์เสาร์ กันตสีโล รูปหล่อพระบูรพาจารย์ที่สร้างขึ้นได้แก่ พระอาจารย์สีทา ชัยเสโน พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระญาณวิศิษย์ และพระสิทธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (สี ธัมมธโร)
สิมวัดบูรพาราม อุบลราชธานี
สิมวัดบูรพาราม ในปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก แต่ยังพอหลงเหลือพอมองเห็นถึงลักษณะดั้งเดิมของสิมแบบอีสานแท้ สันนิษฐานว่าจะเป็นสิมรุ่นเดียวกับสิมวัดป่าใหญ่หรือวัดมหาวนาราม เดิมคงเป็นสิมโปร่ง แต่ต่อมาภายหลังได้ก่อผนังต่อขึ้นถึงชายคา ซึ่งดูจากความแตกต่างในการก่อสร้างคือ ฐานเดิมก่อด้วยอิฐฉาบปูนประกาย ผนังก่ออิฐเตี้ย ๆ สูงราว 60 เซนติเมตร ต่อจากนั้นใช้ไม้ตีเป็นโครงขึ้นไปถึงชายคา แล้วใช้ดินเหนียวผสมแกลบพอกกับไม้ แล้วจึงฉาบปูนทับอีกชั้น ผนังด้านข้างเจาะเป็นหน้าต่างข้างละ 2 ช่อง (ไม่มีบานหน้าต่าง แต่ใช้ไม้โครงผนังเป็นลูกกรงแทน) ตรงผนังหลังพระประธานเจ้าเป็นช่องกลมด้านละช่อง ส่วนผนังด้านหลังก่อทึบเจาะเป็นช่องกลม 4 ช่อง ลักษณะที่เหลืออยู่เป็นฐานเอวขันธ์แบบปากพาน มีบันไดขึ้นทางด้านหน้า ฐานชุกชีก่อเป็นแท่งยาวตลอดแนว โครงหลังคาเดิมหักพังลงหมดแล้ว ทางวัดจึงได้ทำหลังคาใหม่คลุมไว้
หอไตรวัดบูรพาราม อุบลราชธานี
หอไตรวัดบูรพาราม เป็นหอบกหรือหอไตรที่สร้างบนบก ลักษณะอาคารเป็นเรือนไม้ 2 หลังคู่กัน แต่ละหลังเป็นเรือนแบบ 3 ห้อง ยกพื้นสูงด้วยเสากลม หลังละ 8 ต้น มีชานเชื่อมอาคารทั้ง 2 หลัง (ปัจจุบันชานได้หักพังลงหมดแล้ว) อาคารหลังทางทิศใต้ฝีมือประณีตมาก ฝาผนังอาคารเป็นแบบก้างปลา ไม้พรึงแกะสลักเป็นลวดลายกระจังกลีบบัวรอบอาคาร และไม้ลายเท้าสิงห์รองรับกรอบหน้าต่าง หลังคาทรงจั่วมุงแป้นไม้ หน้าบันกรุไม้รูปรัศมีพระอาทิตย์ เชิงชายมีไม้ฉลุโดยรอบ อาคารหลังทิศเหนือฝีมือการก่อสร้างหยาบกว่าทางทิศใต้ โดยเฉพาะลวดลายผนังและการตกแต่งกรอบหน้าต่าง การสร้างหอไตรนี้มาจากพื้นฐานความเชื่อเรื่องการนับถือศาสนาพุทธ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการสร้างคือ เพื่อเป็นที่เก็บหนังสือใบลาน ที่เป็นตัวแทนของพระธรรมคำสอนเป็นของสูงที่ต้องกราบไหว้บูชา หอไตรจึงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ในทัศนคติของชาวบ้าน
ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดบูรพาราม
ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดบูรพาราม
ที่ตั้ง วัดบูรพาราม
ถนนบูรพาใน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดบูรพาราม
15.231391, 104.874282
บรรณานุกรม
ท่องธารธรรม ตามมูนเมืองอุบล แหล่งธรรมะและธรรมชาติ. (2553). อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
ปิยะฉัตร ปีตะวรรณ และสุภัต รักเปี่ยม. (2541). สถาปัตยกรรมอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี.
วิโรฒ ศรีสุโร. (2536). สิมอีสาน. กรุงเทพฯ: เมฆาเพรส.
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.