บุญผาสาดเผิ่ง (ปราสาทผึ้ง) ลอยเรือไฟ บุญบ้านทุ่งใหญ่อุทิศให้บรรพชน

ช่วงวันออกพรรษาของทุกปี ชาวบ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี จะมีประเพณีสำคัญที่ทำสืบทอดกันมาตามฮีตสิบสอง นั่นคือ ประเพณีแห่ผาสาดเผิ่ง (ปราสาทผึ้ง) และลอยเรือไฟ งานบุญที่ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนผู้ล่วงลับ และการสะเดาะเคราะห์แก้บน โดยมีรายละเอียดการจัดงานถึง 3 วัน ดังนี้

วันหักห่าง วันโฮม ทำปราสาทผึ้ง

วันขึ้น 13 ค่ำเดือน 11 หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วันหักห่าง” หรือ “วันโฮม” จะเป็นวันเตรียมงาน ชาวบ้านทุ่งใหญ่แต่ละครอบครัวจะทำข้าวต้ม ขนมจีน เพื่อร่วมงานบุญ ครอบครัวใดที่มีจิตศรัทธาหรือจะแก้บนก็จะทำปราสาทผึ้งหรือต้นบักเผิ่งขึ้น เริ่มจากการทำโครงสร้างของปราสาทผึ้งด้วยไม้ไผ่และมีคานสำหรับหาม มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ให้พร้อมสำหรับการทำปราสาทผึ้ง เช่น ต้นกล้วย ไม้ไผ่ ตอก หนามคัดเค้า (ปัจจุบันใช้ลวด เข็มหมุด หรือตะปูแทน) มีดปลายแหลม รวมทั้งองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ใช้ตกแต่งปราสาทผึ้ง เช่น ดอกผึ้ง ธุง ดอกไม้หรือพวงดอกไม้ สิ่งของ เครื่องใช้ เช่น ธูป เทียน ผ้าแพร หมอน สมุด ดินสอ ปากกา ปอยไหม หมากพลู ยาสูบ เครื่องคาวหวาน เช่น ข้าวต้มมัด กล้วย อ้อย มะละกอ หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่จะใช้สำหรับอุทิศส่วนกุศล และสะเดาะเคราะห์แก้บน  การทำปราสาทผึ้งจะนิยมทำครอบครัวละต้น หากครอบครัวไหนไม่สะดวก ก็สามารถไปทำร่วมกับครอบครัวอื่นได้ เรียกว่า “ไปเพาะบุญ” เพื่อให้ได้ห้อยได้แขวนบุญไปด้วยกัน ได้เกิดมาเป็นพี่น้องเชื่อมสายสัมพันธ์กันอีก

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี

สมัยก่อนครอบครัวใดจะทำปราสาทผึ้งจะมีการบอกกล่าวกัน เพื่อรวมตัวและช่วยกันทำปราสาทผึ้งและอาหารคาวหวาน มีการนำอาหารมารับประทานร่วมกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีในชุมชน ปัจจุบันเริ่มมีการจ้างทำบ้าง เนื่องจากต้นกล้วยหายาก และความไม่สะดวกเรื่องเวลา แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังสามารถแทงหยวกทำปราสาทผึ้งกันได้

ปราสาทผึ้งที่ชาวบ้านไทยทำนั้นจะมี 3 ชั้น ขนาดความสูงรวมขาตั้งประมาณ 1-1.5 เมตร ขนาดความกว้างและยาวประมาณ 0.5-1.0 เมตร มีขาตั้งและคานสำหรับ 2 คนหาม ทำด้วยไม้ไผ่

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี

วันแห่ประสาทผึ้ง

วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีจะกำหนดให้เป็นวันแห่ปราสาทผึ้ง ในช่วงเช้าจะเริ่มการแทงหยวกเพื่อนำมาติดกับโครงสร้างของปราสาทผึ้งที่เตรียมไว้แล้ว โดยจะตัดต้นกล้วยตานีเป็นท่อนให้ได้ความยาวที่ต้องการ ประมาณ 0.5 – 0.8 เมตร แกะกาบกล้วยออกเป็นแผ่น ๆ  จากนั้นจึงฉลุหรือแทงลวดลายลงไป ลายที่นิยมใช้ ได้แก่ ลายเข่าพรหม ลายดอก ฟันหมา (แข่วหมา) ฟันสาม กะทอด โหง่ว นกน้อย และลายอื่น ๆ ตามแต่จะจินตนาการ เป็นต้น

ปราสาทผึ้งชั้นที่ 1 และ 2 นิยมใช้ลายดอก ลายกะทอด ลายฟันหมา ลายฟันสาม หรือลายอื่น ๆ และปิดมุมทั้ง 4 มุมด้วยลายเข่าพรหม ส่วนยอดของปราสาทจะใช้ลายนกน้อย และปิดมุมทั้ง 4 มุมด้วยลายโหง่

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี
ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่

การทำต้นปราสาทผึ้งจะใช้กาบกล้วยตานี เพราะมีกาบขนาดใหญ่ เหนียว ทน เวลาแทงแล้วกาบกล้วยไม่แตก  แต่ปัจจุบันต้นกล้วยหายาก จึงใช้วัสดุอื่นทดแทน เช่น ฟิวเจอร์บอร์ด กระดาษ แต่ก็ยังคงลวดลายดั้งเดิมไว้

เมื่อแทงกาบกล้วยได้ลวดลายที่ต้องการแล้ว จะมัดรวมลายต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น ลายดอก ประกอบด้วยลายฟันสาม ลายเขี้ยวหมา จากนั้นจึงนำไปติดบนโครงสร้างโดยเสียบยึดด้วยหนามคัดเค้า ลวด ตะปู หรือเชือก ทำการตกแต่งปราสาทผึ้งให้สวยงามด้วยดอกผึ้ง เครื่องไทยทาน สิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น สมุด ดินสอ ปากกา ปอยไหม ธุง ดอกไม้ หรือพวงดอกไม้ ส่วนยอดบนสุดจะประดับด้วยเทียน

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี
เครื่องประกอบและตกแต่งปราสาทผึ้ง

ต้นดอกลัง เป็นส่วนหนึ่งของปราสาทผึ้ง ครอบครัวที่ไม่ได้ทำปราสาทผึ้งสามารถนำต้นดอกลังนี้มาร่วมอนุโมทนาบุญไปด้วยกันได้ ต้นดอกลังจะนำไปถวายพระเป็นพุทธบูชา การทำต้นดอกลังจะทำด้วยตอกไม้ไผ่สานม้วนเป็นทรงกลม ปล่อยปลายตอกให้ยาวออกเป็นซี่ ๆ จำนวน 6 ซี่ นำมาเสียบลงบนแกนไม้ไผ่ให้เรียงกัน 3-4 ชั้น ปลายซี่แต่ละอันจะติดด้วยดอกผึ้ง เสียบตั้งอยู่บนหยวกกล้วย

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี
ต้นดอกลัง ในประเพณีแห่ประสาทผึ้งบ้านทุ่งใหญ่

ในช่วงบ่ายเมื่อแดดร่มลมตก ชาวบ้านจะนำเครื่องไทยทานและสิ่งของที่จะอุทิศส่วนกุศลและแก้บนออกมารวมตัวกันที่วัด เพื่อถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ เช่น หมอน ผ้าแพร เครื่องนุ่งห่ม ข้าวสาร ข้าวต้มมัด กล้วย อ้อย มะละกอ เป็นต้น โดย หมอนที่ถวายนั้น ส่วนใหญ่วัดจะเก็บไว้เพื่อเป็นของที่ระลึกแก่ผู้มาร่วมงานบุญกฐินหรือมาทอดผ้าป่า เครื่องนุ่งห่ม ก็แจกจ่ายแก่ผู้ยากจนหรือขาดแคลน ส่วนเครื่องคาวหวานส่วนหนึ่งจะนำไปร่วมในพิธีลอยเรือไฟในวันถัดไป หรือแจกจ่ายแก่ผู้มาร่วมงาน พระสงฆ์จะทำพิธีทอดบังสุกุลเพื่อบำเพ็ญกุศลอุทิศให้บรรพบุรุษหรือผู้ที่ล่วงลับ และทำการนัดหมายเพื่อจะให้ชาวบ้านออกมาแห่ปราสาทผึ้งที่วัด ในเวลาประมาณ 18.00 น.

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี
สิ่งของเครื่องไทยทานสำหรับอุทิศส่วนกุศลหรือแก้บนในประเพณีแห่ปราสาทผึ้งบ้านไทย

เมื่อถึงเวลา 18.00 น. พระสงฆ์จะตีกลองให้ชาวบ้านทราบเพื่อให้แห่ปราสาทผึ้งมารวมกันที่วัด ชาวบ้านจะจุดเทียนที่ยอดปราสาทผึ้ง แล้วช่วยกันแบกหามออกมารวมกันที่วัด เมื่อมาถึงวัดก็จะนำไปวางเรียงกันรอบอุโบสถ จุดเทียนตกแต่งปราสาทผึ้งให้สวยงามสว่างไสว ซึ่งในแต่ละปีจะมีปราสาทผึ้งที่นำมาแห่มากกว่า 50 ต้น

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี
แห่ประสาทผึ้งจากบ้านไปยังวัด
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี
ประสาทผึ้งของแต่ละครอบครัวแห่มารวมกันที่วัด
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี
จุดเทียนประดับปราสาทผึ้ง

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี

เมื่อถึงเวลาอันสมควรที่ปราสาทผึ้งทุกต้นออกมารวมกันหมดแล้ว ซึ่งในแต่ละปีจะมีขบวนแห่ปราสาทผึ้งมากกว่า 50 ต้นพระสงฆ์จะนำขบวนแห่ประสาทผึ้งรอบอุโบสถ จำนวน 3 รอบ ครบรอบแล้วญาติโยมจะทำพิธีถวายปราสาทผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ พระสงฆ์จะบังสุกุล เทศนาธรรม ผลบุญที่ได้จากการถวายปราสาทผึ้ง และให้พร เป็นอันเสร็จพิธี

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี
การแห่ปราสาทผึ้งรอบอุโบสถวัด
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี
พิธีถวายปราสาทผึ้ง

ในระหว่างแห่ปราสาทผึ้งและทำพิธีนั้นก็ให้ระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ บอกกล่าวการมาสะเดาะเคราะห์แก้บน และอธิษฐานขอให้อยู่ดีมีสุข ในวันนี้คณะกรรมการวัดจะทำการคัดเลือกปราสาทผึ้งที่สวยงามไว้ คุ้ม (กลุ่ม) ละ 1 ต้น เพื่อนำไปแห่อีกครั้งในวันต่อไป ส่วนปราสาทผึ้งอื่น ๆ ก็จะนำกลับบ้านไป

สิ่งของที่ใช้ประดับตกแต่งปราสาทผึ้ง เช่น ดินสอ สมุด ปากกา จะถูกแกะออกและนำไปให้เด็กนักเรียนใช้งาน ส่วนปอยไหม ในสมัยก่อนจะนำไปทอผ้าเพื่อทำผ้าอาบน้ำฝน ผ้าสบง สำหรับพระภิกษุสงฆ์ ปัจจุบันไม่ได้มีการทอผ้าแล้ว ปอยไหมจะถูกเก็บไว้ใช้ประดับปราสาทผึ้งในปีถัดไปเพื่อให้ครบองค์ประกอบของปราสาทผึ้ง ส่วนอาหารและผลไม้ต่าง ๆ เช่น กล้วย อ้อย มะละกอ ข้าวต้มมัด จะแจกทานและนำไปให้ชาวบ้านที่ไปร่วมพิธีลอยเรือไฟ

เตรียมการลอยเรือไฟ

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา ในช่วงเช้าชาวบ้านจะมาทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นแต่ละคุ้มจะช่วยกันทำปราสาทผึ้ง โดยการใช้โครงสร้างเดิมแต่แทงหยวกที่ใช้ตกแต่งใหม่ เพื่อนำไปแห่และทำพิธีอีกครั้งในตอนเย็น ในวันนี้จะคัดเลือกปราสาทผึ้งที่สวยงามไว้ 1 ต้น เพื่อนำไปทำพิธีลอยเรือไปในวันถัดไป

วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หรือหลังวันออกพรรษา 1 วัน ช่วงเช้าชาวบ้านจะมีพิธีตักบาตรเทโวที่วัด เสร็จแล้วจะไปรวมกันที่ริมแม่น้ำชี เพื่อทำเรือไฟและตกแต่งปราสาทผึ้งที่คัดเลือกไว้ให้สวยงามอีก การลอยเรือไฟ มีวัตถุประสงค์เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ริมแม่น้ำนัมมาทานทีเมื่อครั้งเสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพญานาคที่เมืองบาดาล เพื่อบูชาไฟ บูชาน้ำ ลอยทุกข์ลอยโศก เสียเคราะห์เสียเข็ญ และทิ้งสิ่งไม่ดีให้ไปกับสายน้ำ

พิธีลอยเรือไฟ บ้านทุ่งใหญ่

พิธีลอยเรือไฟ ชาวบ้านทุ่งใหญ่จะทำเรือไฟไปลอยในแม่น้ำชี โดยชาวบ้านในแถบนั้นจะทำเรือไฟ หมู่บ้านละ 1 ลำ โดยทำแพไม้ไผ่ และผูกมัดไม้ไผ่ให้เป็นรูปเรือ นำปราสาทผึ้งมาตั้งไว้ตรงกลาง ตกแต่งให้สวยงามด้วยดอกไม้ ดอกผึ้ง ปอยไหม ชาวบ้านก็จะนำสิ่งของเครื่องใช้ของตนเองและคนในครอบครัว เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ข้าวปลา อาหาร ผลไม้ หมาก พลู ยาสูบ บ้างก็ตัดผม ตัดเล็บ นำเอาข้าวดำข้าวแดงมาจิ้ม (จ้ำ) ตามเนื้อตัวหรือร่างกายเพื่อเป็นตัวแทนของสิ่งไม่ดีในตัวเองใส่บรรจุไว้ในเรือไฟ

ประเพณีลอยเรือไฟ บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี
เรือไฟ

ประเพณีลอยเรือไฟ บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี

ก่อนที่จะลอยเรือไฟ จะมีการถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์จะสวดมนต์ เทศนาธรรม และให้พร ภายในงานก็จะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน มีละเล่นสนุกสนาน รวมทั้งการจุดบั้งไฟเพื่อฉลองเรือไฟ

เมื่อถึงเวลาประมาณ 15.00 น. จะมีการทำพิธีจุดเทียนบนเรือไฟโดยชาวบ้านแต่ละคนก็จะนำเทียน 1 คู่ พร้อมธูปและดอกไม้ของจุดวางไว้ในเรือไฟ รวมทั้งเทียนธูปที่คนอื่น ๆ ฝากมาร่วมพิธีด้วย จากนั้นจึงนำเรือไฟไปลอยในแม่น้ำ พิธีลอยเรือไฟจะนิยมทำในเวลากลางวัน เนื่องจากเวลากลางคืนไม่สะดวกในการเดินทาง

ประเพณีลอยเรือไฟ บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี ประเพณีลอยเรือไฟ บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี ประเพณีลอยเรือไฟ บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี ประเพณีลอยเรือไฟ บ้านทุ่งใหญ่ เขื่องใน อุบลราชธานี

ความเชื่อเกี่ยวกับการแห่ปราสาทผึ้งและการลอยเรือไฟ

  1. แห่ปราสาทผึ้ง เพื่อเป็นพุทธบูชา เชื่อกันว่า ถ้าใครทำได้ 100 ต้น ผู้นั้นจะไม่ตกนรก (คูณ บุญเต็ม, 2561) หากปีไหนไม่ได้ทำจะรู้สึกไม่สบายใจ
  2. แห่ปราสาทผึ้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนผู้ล่วงลับ เป็นการแสดงความกตัญญู เชื่อว่าบรรพชนจะได้มีปราสาทราชวังหรือบ้านเรืออยู่อาศัย
  3. 3แห่ปราสาทผึ้ง เพื่อแก้บนจากการบนบานให้หายเจ็บป่วย หรือการบนบานขอสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อหายป่วยหรือสิ่งที่บนบานไว้สำเร็จดังประสงค์ก็จะถวายปราสาทผึ้ง ซึ่งบางคนทำแล้วเห็นผลทันตา ความเจ็บป่วยหายไป จึงทำให้ความเชื่อนี้ยังคงอยู่
  4. ลอยเรือไฟ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ริมแม่น้ำนัมมาทานที
  5. ลอยเรือไฟ เพื่อให้ความทุกข์โศกและสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ลอยหายไปกับแม่น้ำ
  6. ลอยเรือไฟ เพื่อบูชาน้ำบูชาไฟ

ข้อมูลเพิ่มเติม : การแทงหยวกทำปราสาทผึ้ง บ้านโพนทราย

ที่ตั้ง บ้านทุ่งใหญ่

ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ บ้านทุ่งใหญ่

15.472838, 104.410818

บรรณานุกรม

คูณ บุญเต็ม. (2561). สัมภาษณ์, 23 ตุลาคม 2561

พระครูภัทรเขตพิทักษ์. (2561). สัมภาษณ์, 23 ตุลาคม 2561

สวัสดิ์ ทองผา. (2557). ลอยเรือไฟบ้านทุ่งใหญ่. เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561, https://youtu.be/wLFRa2jIZP4

วัดบ้านทุ่งใหญ่. เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561, https://www.facebook.com/วัดบ้านทุ่งใหญ่-209789855849736/

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง