วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี วัดป่าสายวิปัสสนากรรมฐาน ที่ปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมของพระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจาย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติ ฝึกฝน อบรมพระภิกษุ-สามเณร ผู้มุ่งสู่ความพ้นทุกข์ ให้เป็นผู้มักน้อย สันโดษ เสียสละ พากเพียรเพื่อมรรคผลนิพพาน และนำพาไปสู่การเป็นสมณะที่งดงาม ด้วยการรักษาวัตรปฏิบัติตามธรรมวินัย อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น ร่วมประคองค้ำชูพระศาสนาให้มีอายุยืนยาว เจริญรุ่งเรือง กระทั่งต่อมาได้เป็นศูนย์กลางการอบรมสั่งสอน ตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ให้กับนักปฏิบัติธรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จนเป็นแรงศรัทธาเกิดสาขาขยายไปยังประเทศทั่วโลก
ประวัติความเป็นมาของวัดหนองป่าพง
วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ เป็นวัดที่มีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ เหมาะแก่การเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อ พ.ศ. 2497 พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ได้ทำการบุกเบิกปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรมและได้จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นและเปลี่ยนสภาพเป็นวัดในโอกาสต่อมา
วัดหนองป่าพงเป็นต้นแบบของวัดป่ากว่า 100 แห่งในประเทศไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก ทั้งออสเตรเลีย ฝรั่งเศส แคนาดา เยอรมัน อิตาลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกาพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เป็นตัวอย่างของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แม้จะมีศาสนิกชนมากมายแต่ก็ไม่สร้างความแตกแยกให้เกิดนิกาย หรือเข้าไปพัวพันกับการเมืองจนเป็นเรื่องแตกแยก วัดจะเน้นความเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่ฟุ่มเฟือยหรือสะสม คงความเป็นพุทธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อย่างแท้จริง
วัดหนองป่าพง เปิดให้เข้าชมตอนเช้า เวลา 10.30-12.00 น. ตอนบ่าย เวลา 14.00-18.00 น.
อาจาริยบูชาพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ขณะมีชีวิตอยู่ท่านได้อุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พุทธศาสนา ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งบังเกิดผลงานที่เป็นประโยชน์อเนกอนันต์แก่พระศาสนา ทั้งที่เป็นพระธรรมเทศนา และสำนักปฏิบัติธรรมในนามวัดสาขาวัดหนองป่าพงมากมาย ซึ่งแม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้ว แต่ศิษยานุศิษย์ของท่านก็ยังคงรักษาแนวทางปฏิบัติธรรมที่ท่านได้สั่งสอนไว้จนถึงปัจจุบัน
วัดหนองป่าพงจะมีการจัดงานปฏิบัติธรรมประจำปี ในระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม ของทุกปี เพื่อเป็นอาจาริยบูชา และรำลึกถึงพระคุณของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) โดยมีพระภิกษุสงฆ์และสามเณรที่เป็นศิษยานุศิษย์จากทั่วโลก รวมถึงญาติโยมที่มีความศรัทธาในคำสอนของหลวงปู่ชา มาร่วมแสดงความเคารพพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ผู้เปรียบเสมือนพ่อแม่ครูอาจารย์ของศิษยานุศิษย์สายวัดหนองป่าพง
เพิ่มเติม : 16 มกราคม 2535 หลวงปู่ชา แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลฯ มรณภาพ
ข้อปฏิบัติของผู้ที่มีความประสงค์จะมาพักปฏิบัติธรรมที่วัดหนองป่าพง
- ควรปฏิบัติตามกฎกติกาสงฆ์ และกฎระเบียบที่ทางวัดตั้งไว้
- ให้ลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในวันแรกที่มาพำนัก อนุญาตให้พักได้ 3 วัน ถ้ามีความประสงค์จะอยู่ต่อต้องมีผู้รับรองนำฝากเป็นพยาน
- ดูแลรักษาทำความสะอาดที่พักที่สงฆ์จัดให้ ช่วยกันประหยัดน้ำและไฟฟ้า ปิดไฟทุกครั้งหลังจากเวลา 21.00-02.30 น.
- ผู้มาพักปฏิบัติให้รับประทานอาหารพร้อมกันที่โรงฉันวันละ 1 มื้อ
- ห้ามสูบบุหรี่ กินหมาก และยาเสพติดทุกชนิด
- ในระหว่างที่พำนักอยู่ในวัด ถ้ามีกิจธุระออกไปภายนอกวัด ให้แจ้งลาต่อเจ้าอาวาสหรือเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทุกครั้ง
- เมื่อกิจของสงฆ์เกิดขึ้นให้พร้อมกันทำ เมื่อเลิกให้พร้อมกันเลิก
- ควรเก็บรักษาของมีค่าไว้ให้ดี ทางวัดไม่รับผิดชอบหากเกิดการสูญหาย
พระอุโบสถวัดหนองป่าพง
พระอุโบสถวัดหนองป่าพง เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์-ร่วมสมัย เกิดจากแนวความคิดของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ที่ว่า โบสถ์ คือ บริเวณหรืออาคารที่พระสงฆ์ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม ให้สร้างพอคุ้มแดดคุ้มฝน ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องประดับให้สิ้นเปลือง ท่านได้วางแนวทางไว้ว่า “ตั้งอยู่บนเนินดินคล้ายภูเขา ให้พื้นโบสถ์ยกลอยสูงขึ้นจำพื้นดิน พื้นโบสถ์ส่วนที่ลอยนี้ใช้เป็นถังเก็บน้ำฝนขนาดใหญ่ สร้างให้เข้ากับธรรมชาติที่สุด มีความเรียบง่าย แข็งแรง ทนทาน ประหยัด มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับพระภิกษุสงฆ์ใช้ร่วมลงสังฆกรรมได้อย่างน้อย 200 รูป และให้มีเครื่องตกแต่งสิ้นเปลืองน้อยที่สุด ไม่ควรมีช่อฟ้าใบระกา ไม่ต้องมีผนัง มีประตู หน้าต่าง และฝนสาดไม่ถึง”
พระอุโบสถหลังนี้ดำเนินการเขียนแบบโดย อาจารย์บำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ อาจารย์แผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา จังหวัดนครราชสีมา ท่านเป็นทั้งสถาปนิกและวิศวกรอำนวยการก่อสร้าง ท่านได้เขียนแบบตามแนวความคิดของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) โดยไม่คิดค่าเขียนแบบและคำนวณโครงสร้าง รูปแบบอาคารได้พยายามดึงเอาส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมพื้นเมืองทางอีสานเข้ามาผสมเพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ทางวัฒนธรรม เสาอาคารและผนังบางส่วนประดับด้วยเครื่องปั้นดินเผาจากบ้านด่านเกวียน โดยมอบให้อาจารย์พิศ ป้อมสินทรัพย์ เป็นช่างปั้นและเผาสุก ภาพปั้นมีทั้งหมด 8 ภาพ เป็นภาพเกี่ยวกับปูชนียสถานสำคัญทางพุทธศาสนาของประเทศไทย 4 ภาพ และเป็นภาพปั้นแสดงเรื่องราวของหลวงพ่อที่กำลังธุดงค์อีก 4 ภาพ พระอุโบสถนี้มีความแตกต่างจากพระอุโบสถทั่ว ๆ ไป คือ
- พื้นอาสนะอยู่บนเนินดินสูงจากระดับพื้นดินเดิม 4 เมตร
- ตัวพระอุโบสถสูงจากเนินดิน 17 เมตร เป็นทรงแหลมหลังคาเป็นโดมสูง ด้านหน้าหลังคา 3 ชั้น ด้านหลัง 2 ชั้น ใต้โดมเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน หลังคาคอนกรีตเปลือย
- ในเนินดินใต้พระอุโบสถเป็นถังน้ำขนาดใหญ่ 2 ถัง ขนาดความกว้าง 5.5 เมตร ยาว 5.5 เมตร สูง 3.5 เมตร ทั้งสองถึงจุน้ำรวมกัน 211,750 ตารางเมตร มีน้ำพอใช้ตลอดฤดูกาล
- มีอาสนะ 3 อาสนะใหญ่มีพื้นที่ทั้งหมด 160 ตารางเมตร
- ไม่มีฝาผนัง ประตู หน้าต่าง และเครื่องประดับลวดลาย ลดค่าใช้จ่าย การก่อสร้างมุ่งประโยชน์เป็นสำคัญ
- การไม่มีฝาผนังทำให้ทุกคนได้มองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพระอุโบสถ ผู้ร่วมกิจกรรมรู้สึกได้ร่วมกิจกรรมไปพร้อม ๆ กัน
เจดีย์พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง
บริเวณที่สร้างเจดีย์พระโพธิญาณเถรนี้เป็นสถานที่ใช้ประกอบงานพิธีพระราชทานเพลิงศพของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ซึ่งท่านได้มรณภาพลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2535 เวลา 05.20 น. เริ่มแรกนั้นได้สร้างแค่ฐานไว้ หลังจากประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพเสร็จจึงได้สร้างเจดีย์นี้ขึ้นเป็นการถาวร เพื่อบรรจุอัฐิของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เจดีย์นั้นเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมอีสานกับล้านช้าง องค์เจดีย์เป็นบัวเหลี่ยมสีเหลืองทองตั้งอยู่บนฐานกลม มีบันไดทางขึ้นและทางเข้าสี่ทิศ ภายในมีเจดีย์แก้วยอดเงินบรรจุอัฐิพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ไว้ ตั้งอยู่ ณ บริเวณใจกลางสถูปเจดีย์ สร้างโดยเหล่าศิษยานุศิษย์และผู้มีจิตศรัทธาที่เลื่อมใสในพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร
พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง เป็นอาคารสามชั้นทรงไทยประยุกต์ มีโถงบันไดอยู่ตรงกลาง ซึ่งได้จัดแสดงประวัติของหลวงปู่ชา สุภทฺโท เครื่องอัฐบริขารของท่าน รวมทั้งโบราณวัตถุและสิ่งของต่าง ๆ หลากหลายประเภท และที่ชั้น 3 ยังเป็นที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ซึ่งเปิดให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้าไปสักการะบูชาได้ประหนึ่งท่านยังมีชีวิตอยู่
ศูนย์เผยแพร่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)
ศูนย์เผยแพร่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) เป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่คำสอนของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทฺโท) เกิดขึ้นโดยพระราชภาวนาวิกรม (เลี่ยม ฐิตธัมโม) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง เห็นว่ามรดกธรรมคำสอนอันล้ำค่าของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) นั้น เป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติ ที่ควรเผยแผ่แก่สาธุชนทั่วไปแต่หากไม่มีการดูแลที่เหมาะสมจะเกิดความผิดพลาดและผิดเพี้ยนจากเนื้อหาอันควรจะเป็นได้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของพระเดชพระคุณพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทฺโท) จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วยพระเถระและศิษยานุศิษย์ เพื่อวางระเบียบการจัดการศาสนสมบัติ อันเป็นมรดกธรรมของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทฺโท) ขึ้น และเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตา โดยได้จัดตั้ง “ศูนย์เผยแผ่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) นี้ ให้เป็นแหล่งเผยแผ่ผลงานของท่าน ตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมผลงานและเก็บรักษาต้นฉบับหนังสือ เทปธรรมะ คำสอน ซีดี และวิดีโอ ที่เกี่ยวข้องกับพระเดชพระคุณพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทฺโท) เพื่อเผยแผ่จรรโลงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาต่อไป
ศูนย์เผยแผ่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) นี้ได้เปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ภายใต้นโยบายและความดูแลของวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี และคณะกรรมการมรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) โดยมีกิจกรรมดังนี้
- รวบรวมและเก็บรักษาต้นฉบับหนังสือ เทปคาสเซ็ท ซีดี เอ็มพี3 วิดีโอ และสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทฺโท) โดยจัดเป็นระบบห้องสมุด
- แจกจ่ายหนังสือธรรมะคำสอนของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทฺโท) แก่ผู้สนใจ
- จัดทำและประสานงานเพื่อให้การผลิตสื่อธรรมะต่าง ๆ ของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทฺโท) มีความถูกต้องเหมาะสม ไว้เผยแพร่แก่ผู้สนใจเป็นเจ้าของ หรือนำไปแจกจ่ายเป็นธรรมทานในโอกาสต่าง ๆ สำหรับงบประมาณของเจ้าภาพที่จัดทำมรดกธรรมจะนำไปสมทบเป็นทุนในการผลิตต่อไป
- จัดกิจกรรมอื่น ๆ ทางศาสนา อาทิ การกราบนิมนต์พระอาจารย์มาแสดงธรรม หรือนำการนั่งสมาธิ ประมาณเดือนละครั้ง แก่สมาชิก ผู้สนใจในธรรมและการปฏิบัติ
- บริการข่าวสาร เกี่ยวกับกิจกรรมของศูนย์ หนังสือพระธรรมคำสอนของหลวงพ่อที่จัดพิมพ์ใหม่ และอื่นๆ ทั้งในรูปของจดหมาย และเว็บไซต์ (www.ajahn-chah.org, www.watnongpahpong.org)
ที่ตั้ง วัดหนองป่าพง
บ้านพงสว่าง หมู่ที่ 10 ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โทร 0-4526-7563, 0-4526-8084 http://www.watnongpahpong.org/
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดหนองป่าพง
15.161624, 104.829382
บรรณานุกรม
ติ๊ก แสนบุญ. (2558). โบสถ์สมัยใหม่…ไทยประยุกต์…แรกมีในสยามประเทศ. อุบลราชธานี: สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วัดหนองป่าพง, 25 สิงหาคม 2559. http://www.watnongpahpong.org/