วัดสุทัศนาราม หนึ่งในวัดสังกัดธรรมยุตินิกายของจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีอุโบสถที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของวัดธรรมยุติ ซึ่งมีต้นแบบมาจากอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร และเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ผู้มีอุปการะคุณมอบพื้นที่ส่วนตัวให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติวัดสุทัศนาราม
วัดสุทัศนาราม เดิมชื่อ “วัดสุทัศน์” ถูกสร้างขึ้นที่ชายดงอู่ผึ้ง เมื่อ พ.ศ.2396 โดย ราชบุตรสุ่ย พร้อมด้วยญาติได้ร่วมกันสร้างขึ้น เป็นวัดธรรยุติกนิกายวัดที่ 3 ของเมืองอุบลราชธานี ในสมัยเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (เจ้าหน่อคํา) เป็นเจ้าเมือง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2477 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 22 เมตร ยาว 40 เมตร
อุโบสถวัดสุทัศนาราม สถาปัตยกรรมธรรมยุติกนิกาย
สุพัตรา ทองกลม (2556) กล่าวถึง อุโบสถวัดสุทัศนารามในการศึกษาวัดธรรมยุตินิกายในจังหวัดอุบลราชธานีว่า หลังจากวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดในสังกัดธรรมยุตินิกายแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี ได้สร้างอุโบสถหลังใหม่แล้วเสร็จ ก็กลายเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมของวัดธรรมยุติในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีรูปแบบเฉพาะไม่เหมือนกับวัดใด ๆ ในภาคอีสาน อุโบสถวัดสุทัศนาราม ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 โดย พระสิริจันโท จันทร์ นั้น ก็เป็นหนึ่งอุโบสถที่ได้รับต้นแบบมาจากอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร
อุโบสถของวัดสุทัศนาราม เป็นงานสถาปัตยกรรมธรรมยุติกนิกายของจังหวัดอุบลราชธานีหลังจากที่มีการสร้างอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหารให้เป็นต้นแบบแล้ว ลักษณะสถาปัตยกรรมจึงมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หน้าบันแบบไม่มีไขราหน้าจั่ว ประดับด้วยเครื่องลำยองนาค ตกแต่งปูนปั้นลายพฤกษาและเจดีย์กลมที่เป็นสัญลักษณ์ของวัดธรรมยุติกนิกาย การประดับตกแต่งอุโบสถจะมีกลิ่นอายความเชื่อของจีนและญวนผสมผสานอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับที่สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (ติสโส อ้วน) ได้กล่าวว่า แรงงานสำคัญในการสร้างอุโบสถวัดสุปัฏนารามนั้นเป็นช่างญวน ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับการสร้างอุโบสถวัดสุทัศนารามเช่นกัน
อุโบสถวัดสุทัศนาราม มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความกว้างน้อยกว่าอุโบสถวัดสุปัฏนารามแต่มีขนาดความสูงมากกว่า ตั้งอยู่ใจกลางวัดในแนวเหนือใต้ มีศาลาการเปรียญและศาลาอเนกประสงค์ขนาบ 2 ข้าง โดยจำแนกส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ไว้ ดังนี้
- อุโบสถมีกำแพงโดยรอบ ทางเข้าออกอยู่ด้านหน้าและหลังตรงกับทางขึ้นลงอุโบสถ มีทั้งหมด 4 ประตู ทางเข้าอุโบสถและทวารบาลมีรูปปั้นสิงโตคล้ายกับอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตั้งอยู่ในตำแหน่งด้านสกัดทั้งหน้าและหลัง มีด้านละ 2 ข้าง ตรงกับห้องเสาของทั้งสองข้าง
- บันไดทางขึ้นอุโบสถมี 6 ขั้น มีขนาดความกว้างเท่ากับห้องเสาหนึ่ง สูงประมาณ 1 เมตร
- อุโบสถมีหลังคาจั่วไม่ซ้อนชั้น มีหลังคาปีกนกเป็นชั้นลดด้านข้าง
- หน้าบันอุโบสถไม่มีไขราหน้าจั่ว เครื่องลำยองเป็นตัวนาค ช่อฟ้าและหางหงส์เป็นหัวนาค ใบระกาเป็นครีบนาค ตกแต่งหน้าบันด้วยปูนปั้นลายพฤกษา
- ภายในอุโบสถมีเสารับโครงสร้างหลังคาขนาด 12*24 เมตร ร่วมกับโครงสร้างผนังผนัง ด้านยาวแบ่งเป็น 10 ห้องเสา (นับรวมมุขด้านหน้าและหลัง) ด้านกว้างแบ่งเป็น 4 ห้องเสา เท่า ๆ กัน พื้นที่ใช้งานดูกว้างและสูง แต่ไม่โล่งเนื่องจากมีแนวเสารับโครงสร้างเป็นเสาร่วมในอุโบสถ
- ลักษณะผังพื้นอุโบสถ มีปีกนกด้านข้างอาคารเหมือนอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ไม่มีเฉลียง ความสูงจากพื้นถึงยอด 14 เมตร
- การตกแต่งอุโบสถมีการคาดเส้นเป็นแนวเดียวกับหน้าบันของปีกนกต่อเนื่องโดยรอบอาคาร ทำให้มีพื้นที่ผนังส่วนบนที่ต่อเนื่องลงมาจากหน้าบันอยู่ระหว่างเสาใน การประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นลายพฤกษา การออกแบบเป็นเส้นตรงแบบเรขาคณิต การประดับตกแต่งมีลักษณะคล้ายแบบกรุงเทพฯ ทั้งการตกแต่งเสาอิงด้วยบัวหัวเสาแบบเหลี่ยมเป็นกลีบบัวซ้อนสามชั้น มีลูกแก้วคาดทั้งบนและล่างหัวเสาต่อเนื่องโดยรอบอาคาร ทำให้มีพื้นที่ประดับดาวตกแต่งเป็นจังหวะทุกห้องเสา รายละเอียดประดับตกแต่งนั้นต่างจากวัดสุปัฏนารามวรวิหาร คือ ไม่มีกลิ่นอายของอิทธิพลตะวันตก มีการใช้ปูนปั้นตกแต่งงานสถาปัตยกรรมที่แฝงไปด้วยความหมายอันเป็นสิริมงคลอย่างแจกัน กระถางดอกไม้ ที่เป็นเครื่องมงคลบูชาตามความเชื่อของจีนที่มักจะเกิดในผลงานของช่างญวนที่ปรากฏให้เห็นในช่วงปี พ.ศ.2460-2500
ที่ตั้ง วัดสุทัศนาราม
234 ถนนชยางกูร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดสุทัศนาราม
15.231901, 104.856438
บรรณานุกรม
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, วันที่ 17 กรกฎาคม 2566. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon.
สุพัตรา ทองกลม. (2556). การศึกษาวัดธรรมยุตินิกายในจังหวัดอุบลราชธานี (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร.