บุญกฐิน หรือบุญเดือนสิบสอง หนึ่งในฮีตฮอยท้องถิ่นอีสานเดือนสุดท้ายของปีทางจันทรคติ จัดเป็นสังฆกรรมประเภทกาลทานหรือการทานตามกาลสมัยตามพระวินัยบัญญัติเถรวาท มีกำหนดเวลาในการทำบุญกฐินเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น คือ ระหว่างวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 และมีความเชื่อว่าการทำบุญกฐินจะได้อานิสงค์ผลบุญมากทั้งผู้ถวายและพระสงฆ์ผู้รับผ้ากฐิน
ความหมายของกฐิน
ฝ่ายบริภัณฑ์เพื่อการศึกษา (2526) กล่าวไว้ว่า คำว่า “กฐิน” เป็นคำไทยที่มาจากภาษาบาลี แปลว่า “ไม้สะดึง” หมายถึง กรอบไม้สำหรับใช้ขึงผ้าเพื่อทำให้การปักเย็บสะดวกขึ้น เป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่มของพระสงฆ์ ทั้งสบง จีวร และสังฆาฏิ
ความพิเศษของกฐิน
อีสานร้อยแปด (2561) กล่าว่า การถวายกฐินมีความความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น ดังนี้
- จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
- จำกัดเวลา คือ กฐินเป็นกาลทานตามพระบรมพุทธานุญาตจากประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรงไม่มีผู้ทูลขอ ดังนั้น จึงจำกัดเวลาว่าต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น
- จำกัดงาน คือ ภิกษุสงฆ์ที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
- จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่พระวินัยกำหนดไว้
- จำกัดผู้รับ คือ ภิกษุสงฆ์ผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป
- จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
ประเภทของกฐิน
ประเภทของกฐินมี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ กฐินหลวง ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐิน และ กฐินราษฎร์ คือ กฐินที่ประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชนนำไปทอดถวาย ณ วัดต่าง ๆ
พระครูสิริวุฒิวงศ์ (2550) ได้ให้ข้อมูลว่า ประเภทของกฐินราษฎร์หากแบ่งตามลักษณะของการจัดการสามารถแบ่งได้ 4 ประเภท คือ
- กฐินทั่วไป หรือ มหากฐิน คือ กฐินทั่วไปที่ผู้มีศรัทธานำไปถวายตามวัดที่ตนศรัทธาและจองไว้โดยทั่วไป
- จุลกฐิน คือ กฐินที่ทำอย่างเร่งรีบ จะต้องทำผ้ากฐินและถวายภิกษุสงฆ์ให้แล้วเสร็จในวันเดียว บางครั้งจึงเรียกว่า กฐินแล่น (คำว่า แล่น ในภาษาอีสานหมายถึง เร่งรีบจนต้องวิ่ง) เจ้าภาพผู้ที่จะทำจุลกฐินจะต้องเป็นผู้มีบารมี มีพวกพ้องคอยช่วยเหลือ เพราะต้องทำผ้ากฐินตั้งแต่ขั้นตอนการปั่นเส้นด้ายจนทอให้เป็นผืนผ้าให้แล้วและนำมาทอดถวายในวันนั้นให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว หรือหากเจ้าภาพไม่มีกำลังมากพอก็อาจจะตัดวิธีการในตอนต้น ๆ ออกเสียก็ได้ โดยเริ่มตั้งแต่การนำเอาผ้าขาวผืนใหญ่มากะประมาณให้พอที่จะตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งแล้วนำไปทอดถวาย ก็ได้
- กฐินสามัคคี หรือกฐินพัฒนา คือ กฐินที่เจ้าภาพร่วมกันหลายคน กฐินลักษณะนี้มักจะได้ปัจจัยมาทำนุบำรุงและพัฒนาวัดพัฒนาท้องถิ่นมากกว่าแบบอื่น และเพื่อความโปร่งใสและสะดวกในการดำเนินการมักจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการ กฐินสามัคคีนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายมาก ช่วยสร้างความสามัคคีในชุมชนให้มีความรักมั่นกลมเกลียวอีกทางหนึ่งด้วย
- กฐินตกค้าง หรือกฐินตก หรือ กฐินโจร เพราะผู้มีศรัทธาที่ไปทอดถวายผ้ากฐินมักจะไม่บอกกล่าวให้รู้ล่วงหน้าหรือจองไว้ก่อน มักทำกันในวัดที่ตกค้างไม่มีผู้มีทอดถวายกฐิน โดยผู้มีศรัทธาจะไปสืบเสาะหาวัดที่ตกค้างนี้และทอดถวายกฐินในวันใกล้ ๆ จะสิ้นหน้าทอดกฐินหรือในวันสุดท้ายของกาลกฐิน ผู้มีศรัทธาคนเดียวจะทอดถวายกฐินตกค้างหลายวัดก็ได้ มีความเชื่อว่าการทอดกฐินตกค้างนี้จะได้บุญอานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินแบบอื่น บางครั้งหากพบว่าวัดนั้น ๆ มีคุณสมบัติที่ไม่สามารถรับกฐินได้ ผู้ศรัทธาก็อาจจะถวายเครื่องกฐินและบริวาร หรือเครื่องไทยทานให้กับวัดไปเลยก็มี เรียกว่า ผ้าป่าแกมกฐิน
การทอดกฐินนั้นมีเพียงผ้าผืนเดียว ซึ่งอาจตัดเย็บย้อมเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่มซ้อนอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรืออาจถวายผ้าสำเร็จผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ หากวัดใดวัดหนึ่งไม่มีใครจองกฐิน ใครก็ได้ที่มีศรัทธาและทุนไม่มากไปซื้อผ้าสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่งมาถวายก็เรียกว่า ทอดกฐิน แล้ว หรือในกรณีที่บางวัดมีประเพณีให้ตัดเย็บ ย้อมให้เสร็จในวันนั้นก็ซื้อผ้าขาวผืนเดียวมาถวาย ก็จัดเป็นการทอดกฐินที่สมบูรณ์ตามพระวินัยเป็นอันแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้างอย่างง่าย ๆ
ขั้นตอนการทำบุญกฐิน
1.การจองกฐิน ผู้ที่มีศรัทธาจะถวายกฐินจะต้องทำการจองกฐิน ณ วัดที่มีภิกษุสงฆ์จำพรรษาครบ 3 เดือน และมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 รูป ถ้าต่ำกว่านั้นใช้ไม่ได้ แม้จะไปนิมนต์มาจากวัดอื่นก็ไม่ได้ โดย ผู้จองกฐินจะต้องเขียนสลากใบจองติดไว้ผนังโบสถ์ บอกชื่อ-สกุล ตำแหน่งและที่อยู่ของตนให้ชัดเจน และระบุด้วยว่าจะเป็นมหากฐิน หรือจุลกฐิน เพื่อมิให้ผู้อื่นไปจองซ้ำซ้อน เพราะในแต่ละปี แต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงกองเดียวเท่านั้น
ผู้ที่สมควรเป็นผู้ทอดกฐิน คือ ผู้ที่มีศรัทธาจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือเทวดามารพรหมคนใดก็ได้ หากมีเครื่องบริขารตามที่กล่าวมาแล้วก็สามารถถวายให้ภิกษุสงฆ์ให้ได้รับประโยชน์ทางพระวินัยได้
2. การเตรียมองค์กฐินและบริวารกฐิน
องค์กฐิน เป็นคำเรียกองค์ประกอบของใช้ของภิกษุสงฆ์ที่ร่วมถวายกับไตรจีวรแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ครองผ้ากฐินในปีนั้น ๆ ได้แก่ 1.ผ้าไตรจีวร 2.บาตร 3.ตาลปัตร 4.ย่าม 5.รองเท้า
ข้อกำหนดเกี่ยวกับผ้าต่าง ๆ ที่อยู่ในองค์กฐิน
- จะต้องมีขนาดตามที่กำหนด เช่น ผ้าสบงให้ยาว 6 ศอก กว้าง 2 ศอก ผ้าจีวรและสังฆาฏิ ยาว 6 ศอก กว้าง 4 ศอก แต่ถ้าผู้รับตัวเล็กก็ให้ลดลงตามสัดส่วน
- ผ้าที่ควรทำเป็นผ้ากฐิน คือ 1) ผ้าใหม่ 2) ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ 3) ผ้าเก่า 4) ผ้าบังสุกุล 5) ผ้าตกตามร้านตลาดที่ยืมเขามา
- ผ้าที่ไม่ควรทำผ้ากฐินคือ 1)ผ้ายืมเขามา 2)ผ้าทำนิมิตรได้มา 3)ผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา 4)ผ้าเป็นนิสสัคคีย์ (นิสสัคคีย์ คือ อาบัติประเภทที่พระสงฆ์ผู้ผิดโดยการรับหรือ ได้ของอย่างหนึ่งมา จะต้องสละของนั้นก่อนจึงจะแสดงอาบัติได้) 5) ผ้าที่ลักขโมยเขามา เป็นต้น
นอกจากองค์กฐินแล้ว เจ้าภาพบางรายอาจศรัทธาถวายของอื่น ๆ ไปพร้อมกับองค์กฐิน เรียกว่า บริวารกฐิน ตามที่นิยมกันประกอบด้วยปัจจัย 4 อาทิ
- เครื่องบริขาร 8 หรือนุ่งห่มของพระภิกษุสามเณร ได้แก่ บาตร ผ้าสังฆาฏิ ผ้าจีวร ผ้าสบง มีดโกน เข็ม ผ้าประคตเอว ผ้ากรองน้ำ หรืออื่น ๆ ที่จำเป็น
- เครื่องใช้สอยประจำปี ได้แก่ ผ้าห่มหน่ว เสื่อ มุ้ง หมอน กลด เตียง โต๊ะ เก้าอี้ โอ่งน้ำ กระถาง กระทะ กระโถน เตา ภาชนะสำหรับใส่อาหารคาวหวาน
- เครื่องมือสำหรับการซ่อมแซมเสนาสนะ มีมีด ขวาน สิ่ว เลื่อย ไม้กวาด จอบ เสียม
- เครื่องคิลานเภสัชหรือยารักษาโรค ยาสีฟัน แปรงสีฟัน อุปกรณ์ซักล้าง เป็นต้น
- อื่น ๆ ที่เป็นของที่สมควรแก่ภิกษุสงฆ์สามเณรจะใช้อุปโภคบริโภคเท่านั้น หากจะมีของที่ระลึกสำหรับแจกจ่ายแก่คนที่อยู่ในวัดหรือคนที่มาร่วมงานกฐินด้วยก็ได้ สุดแต่กำลังศรัทธาและอัธยาศัยไมตรีของเจ้าภาพ และที่พบเห็นในท้องถิ่นอีสานคือ การนำข้าว ปลา อาหาร เช่น กล้วยเครือ อ้อย มะละกอ มะพร้าว มาสมทบร่วมอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมที่เจ้าภาพผู้ทอดกฐินจะต้องมีผ้าห่มพระประธานอีก 1 ผืน เทียนสำหรับจุดในเวลาที่ภิกษุสงฆ์สวดปาติโมกข์หรือเทียนปาติโมกข์ จำนวน 24 เล่ม และมีธงขาวเขียนรูปจรเข้ หรือสัตว์น้ำอย่างอื่น เช่น ปลา นางเงือก เป็นต้น
3.การทอดถวายกฐิน
- ก่อนถึงวันทอดถวายกฐิน
เมื่อเจ้าอาวาสทราบกำหนดวันทอดถวายกฐินแน่นอนแล้ว จะซักซ้อมภิกษุสงฆ์ผู้ที่จะรับกฐิน การอปโลกน์กฐิน การสวดให้ผ้ากฐิน การกรานกฐิน การอนุโมทนากฐิน และจัดการทำความสะอาดบริเวณวัดให้สะอาดเรียบร้อยก่อน
คุณสมบัติของภิกษุสงฆ์ผู้สมควรได้รับผ้ากฐิน พิจารณาจาก 1) เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในสงฆ์ 2) เป็นผู้มีจีวรเก่ารูปอื่น 3) เป็นผู้ฉลาดสามารถที่จะทำกรานกฐินให้ถูกต้องได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ในส่วนของเจ้าภาพผู้จองกฐินบางคนจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ และเทศนาธรรมที่บ้านและช่วงเวลากลางคืนก็อาจจะมีมหรสพหรือหมอลำเสพงันตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าก็จะถวายบิณฑบาตรแล้วแห่กฐินไปทอดถวายที่วัด ในกรณีที่เป็นกฐินสามัคคีอาจจะมีการสวดมนต์ เทศนาธรรมร่วมกันที่วัด
- การทอดถวายกฐิน
เมื่อถึงเวลาที่กำหนดผู้มาร่วมการทอดถวายกฐินจะแห่องค์กฐินพร้อมเครื่องบริขารต่าง ๆ รอบศาลาการเปรียญโดยการเวียนขวาจำนวน 3 รอบ โดยหน้าขบวนแห่จะมีกลุ่มคนถือไม้กวาดเพื่อกวาดเส้นทางให้ผู้คนที่มาในขบวนได้เดินกันอย่างสะดวก ปลอดภัยจากหนามและของแหลมคมต่าง ๆ นัยว่าเป็นการร่วมบุญโดยการใช้แรง บางท้องถิ่นจะใช้ไม้กวาดกวาดไปในอากาศ นัยว่าเพื่อกวาดสิ่งอัปมงคลชั่วร้ายให้พ้นไปจากเส้นทางของขบวนกฐินอันเป็นขบวนบุญ
เมื่อแห่ครบ 3 รอบแล้วจะนำองค์กฐินและเครื่องบริขารไปรวมไว้ที่ศาลาการเปรียญ ซึ่งมีภิกษุสงฆ์รอรับองค์กฐินและบริวาร จากนั้นมัคทายกหรือผู้นำจะนำไหว้พระรับศีลและกล่าวคำถวายกฐิน และยกผ้ากฐินไปถวาย พระสงฆ์รับแล้วทำการอปโลกน์ (อปโลกน์ แปลว่า ยกให้ขึ้นเป็น, ยกกันขึ้นเป็น)
- คำอปโลกน์
องค์ที่ 1 ว่า “ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าบริวารนี้ เป็นของปัจจัยทานาธิบดีผู้วิเศษ มีเจตนาน้อมนำมาถวายแด่พระภิกษุผู้จำพรรษาในอาวาสนี้ สิ้นไตรมาสสามเดือนก็แลผ้ากฐินนี้เป็นของบริสุทธ์สะอาด อากาสะโต โอติณณะสะทิสะเมวะ เปรียบประดุจผ้าทิพย์อันเลื่อนลอยตกมาจากอากาศ จะได้จำเพาะเจาะจงแก่พระภิกษุสงฆ์รูปใด ขอจงสมมติให้แก่ภิกษุรูปนั้นเถิด
องค์ที่ 2 ว่า ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าบริวารนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นสมควรแก่ …ซึ่งเป็นพระเถระเป็นประมุขประธานในสงฆ์ ทรงไว้ซึ่งสีลสุตาทิคุณ มีความฉลากรอบรู้ในอันที่จะกระทำกฐินัตถารกิตให้ถูกต้องตามวินัยนิยมบรมพุทธานุญาต ถ้าภิกษุรูปใดไม่เห็นสมควรขอได้ทักท้วงขึ้นในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ ถ้าเห็นสมควร ขอจงให้เสียงอนุโมทนาสาธุการขึ้นพร้อม ๆ กัน
เมื่อว่าคำอปโลกน์เสร็จแล้ว จะทำการสวมญัตติต่อภิกษุสงฆ์นั่งให้ได้หัตถบาส (ห่างกันไม่เกิน 1 ศอก) วางผ้ากฐินไว้ตรงหน้า ภิกษุสงฆ์สองรูปสวดญัตติ
เมื่อผ้าพร้อมแล้ว ภิกษุผู้จะรับกฐินกระทำการถอนผ้าเก่าทั้งหมดแล้วพินทุและอธิษฐานผ้าใหม่ทุกตัว จะกรานสบง จีวร หรือสังฆาฏิตัวใดตัวหนึ่งก็ได้ ให้กรานเพียงตัวเดียว ถ้าเป็นผ้าสำเร็จรูปกรานสังฆาฏิก็ได้ ถ้าเป็นผ้าตัดใหม่ ใช้ตัดผ้าสบงเพราะสบงตัด เย็บ ย้อมง่ายกว่า เวลากรานก็เอาผ้าสบงกราน คือ ภิกษุผู้รับกฐินหันหน้ามายังสงฆ์ ว่านโม 3 จบ แล้วกรานสบงว่า อิมินา อันตะระวาสเกนะ กะฐินัง อัตถะรามิ 3 หน เป็นอันเสร็จพิธีกรรม ต่อไปว่าคำอนุโมทนา
ภิกษุสงฆ์ผู้รับกฐินเป็นผู้นำว่า นโม 3 จบ พร้อมกัน เสร็จแล้วผู้รับกฐินหันหน้าลงมายังสงฆ์ กล่าวคำอนุโมทนาว่า อัตถะตัง อาวุโส สังฆัสสะ กฐินัตถาโร อะนุโมทะถะ ว่า 3 จบ แล้วพระสงฆ์ว่าคำอนุโมทนาพร้อมกันว่า อัตถะตัง ภันเต สังฆัสสะ กฐินัง ธัมมิโก, กะฐินัตถาโร อนุโมทนามิ 3 หน เป็นอันเสร็จพิธีเกี่ยวแก่การกรานกฐินเพียงนี้
การทอดกฐินหรือการถวายกฐินไม่เหมือนถวายทานอย่างอื่น ผู้ถวายจะพอใจในภิกษุสงฆ์รูปใดจะยกถวายรูปนั้นไม่ได้ ต้องมอบให้เป็นหน้าที่ของภิกษุสงฆ์ท่านจะให้ใครท่านจะอุปโลกน์ให้ ถ้าภิกษุสงฆ์พร้อมกันจึงจะทอดให้ภิกษุองค์นั้นได้
- การปักธงกฐิน
เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว จะมีการปักธงขาวเขียนรูปจรเข้ หรือสัตว์น้ำอย่างอื่นเป็นเครื่องหมายให้ทราบว่าวัดนั้น ๆ ได้รับกฐินแล้วและอนุโมทนาร่วมกุศลด้วยได้ ซึ่งธงนี้จะปลดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ธงกฐินนิยมทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้ายาวประมาณ 2 ศอก กว้าง 1 ศอก ปลายทั้งสองข้างเย็บเป็นซองขวางผืนธง เพื่อสอดไม้สำหรับผูกหรือแขวนตอนบนข้างหนึ่ง และถ่วงชายธงตอนล่างข้างหนึ่ง ในกรณีของธงจรเข้จะเขียนรูปจระเข้คาบดอกบัว 3 ดอก ลำตัววางตามความยาวธง เอาหัวไว้ข้างบน หางเหยียดลงไปทางปลายธง
ธงขาวเขียนรูปสัตว์นี้ บ้างก็ว่าเป็นคติธรรมสอนเรื่อง ความโลภ โกรธ หลง การมีสติรู้จักควบคุมจิตใจ อีสานเกท (2564) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับว่า ธงขาวเขียนรูปสัตว์และนางมัจฉา ไว้ ดังนี้
- ธงจระเข้ เปรียบกับ ความโลภ ด้วยจรเข้นั้นที่มีปากขนาดใหญ่แต่กินไม่เคยอิ่ม
- ธงตะขาบ เปรียบกับ ความโกรธ เนื่องด้วยพิษของตะขาวนั้นเผ็ดร้อนเหมือนความโกรธที่แผดเผาจิต
- ธงนางมัจฉา เปรียบกับ ความหลง ด้วยเสน่ห์แห่งความงามที่ชวนหลงใหลของนางมัจฉา อีกนัยหนึ่งคือ นางเงือกมีลักษณะจะเป็นคนก็ไม่ใช่เป็นปลาก็ไม่เชิงเป็นลักษณะของความไม่รู้หรืออวิชชา และมีความเชื่อว่า อานิสงส์จากการถวายผ้าแก่ภิกษุสงฆ์จะทำให้ผู้ถวายมีรูปงาม
- ธงเต่า หมายถึง สติ การระวังป้องอายตนะทั้ง 6 เหมือนเต่าที่หด หัว ขา หาง ป้องกันอันตราย เพื่อสอนว่า ความโลภ โกรธ หลง ต้องรู้จักควบคุมจิตใจด้วยการมีสติ
สำหรับปักหน้าวัดเมื่อทอดกฐินแล้วเสร็จ การปักธงนี้เป็นเครื่องหมายให้ทราบว่าวัดนั้น ๆ ได้รับกฐินแล้วและอนุโมทนาร่วมกุศลด้วยได้ ธงนี้จะปลดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
ตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับธงกฐิน
- มีอุบาสกคนหนึ่งไปทอดกฐินทางน้ำ ใช้ขบวนเรือแห่กฐิน ครั้งนั้นมีหมู่สัตว์น้ำทั้งหลายตามขบวนกฐินไปด้วย มีมัจฉา ตะขาบ จระเข้ เป็นต้น แต่ไม่สามารถจะตามขบวนกฐินไปถึงในวัดได้ ด้วยความเลื่อมใสในพระศาสนา จึงอ้อนวอนให้อุบาสกนั้น เขียนรูปตนเข้าในบริวารกฐินด้วย อุบาสกเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายก็อนุโมทนาบุญของตน จึงเขียนรูปไว้ แล้วเรื่องนี้จึงได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
- ในสมัยโบราณ การเดินทางต้องอาศัยการดูทิศทางจากดวงดาว เช่น ในการเคลื่อนขบวนทัพในตอนจวนสว่าง ต้องอาศัยดาวจระเข้ซึ่งขึ้นในช่วงนั้นพอดี การทอดกฐินในสมัยนั้นบางทีต้องไปทอดกฐิน ณ วัดซึ่งอยู่ห่างไกล จึงต้องอาศัยดูทิศทางจากดาวจระเข้ ซึ่งพอดาวจระเข้ขึ้นก็เริ่มเคลื่อนขบวนกฐิน และเดินทางไปถึงวัดเมื่อสว่างพอดี ต่อมาจึงมีผู้คิดทำธงประดับองค์กฐิน โดยถือว่าดาวจระเข้เป็นดาวบอกเวลาเคลื่อนองค์กฐิน
- เศรษฐีผู้หนึ่งเป็นคนขี้เหนียว ไม่เคยคิดทำบุญสร้างกุศล นำสมบัติไปฝังไว้ที่ท่าน้ำหน้าบ้าน ครั้นตายลงจึงไปเกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติของตน ได้รับความทุกขเวทนามาก จึงไปเข้าฝันภรรยาให้มาขุดสมบัติไปทำบุญกุศล ภรรยาจึงจัดให้มีการทอดกฐิน จระเข้เศรษฐีนั้นก็บังเกิดความยินดี ว่ายน้ำตามขบวนเรือแห่องค์กฐินไป แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดแรงไปต่อไม่ไหว จึงบอกภรรยาให้วาดรูปจระเข้ใส่ในธงไปแทน
- มีอุบาสกคนหนึ่งนำองค์กฐินแห่ไปทางเรือ มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญในการทอดกฐิน จึงว่ายน้ำตามเรืออุบาสกนั้นไปด้วย ไปได้พักหนึ่งจึงบอกแก่อุบาสกว่า ตนตามไปด้วยไม่ได้แล้ว เพราะเหนื่อยอ่อนเต็มที ขอให้อุบาสกจ้างช่างเขียนภาพของตนที่ธง แล้วยกขึ้นไว้ในวัดที่ไปทอดกฐินด้วย อุบาสกทำตามคำขอของจระเข้ ธงจระเข้จึงปรากฏมานับแต่นั้น
- เป็นกุศโลบายของคนโบราณ โดยการกฐินแห่ไปในขบวนเรือต้องเดินทางไปตามลำน้ำ ซึ่งมักมีอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ เช่น จระเข้ขึ้นมาหนุนเรือให้ล่มบ้าง ขบกัดผู้คนบ้าง คนสมัยก่อนจึงหวั่นเกรงภัยเช่นนี้ จึงคิดอุบายทำธงจระเข้ปักหน้าเรือไปเป็นทำนองประกาศให้สัตว์ร้ายในน้ำ เช่น จระเข้ ให้รับทราบการบุญการกุศล จะได้พลอยอนุโมทนาและมีจิตใจอ่อนลง ไม่คิดทำอันตรายแก่ผู้คนในขบวนเรือ
นอกจากนี้แล้ว ธงที่เขียนรูปสัตว์และนางมัจฉาแล้ว ยังพบว่ามีธงรูปคลื่นและรูปวังน้ำวน ซึ่ง มติชน จำกัด (2565) ยังให้ข้อมูลว่า มีข้อความในจาตุมสูตรตอนหนึ่ง แสดงภัยที่จะเกิดกับพระไว้ 4 อย่างด้วยกัน ซึ่งเปรียบด้วยภัยที่เกิดแก่บุคคลที่ลงในแม่น้ำหรือทะเล คือ
- ภัยเกิดแต่ความอดทนต่อโอวาทคำสอนมิได้ ท่านเปรียบเสมือน “คลื่น” เรียกว่า อุมฺมิภยํ
- ภัยเกิดแต่การเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากมิได้ ท่านเปรียบเสมือน “จระเข้” เรียกว่า กุมฺภีลภยํ
- ภัยเกิดแต่ความยินดีในกามคุณ 5 ท่านเปรียบเสมือน “วังน้ำวน” เรียกว่า อาวฏฺฏภยํ
- ภัยเกิดแต่การรักผู้หญิง ท่านเปรียบเสมือน “ปลาร้าย” เรียกว่า สุสุกาภยํ
อานิสงค์ของการทำบุญกฐิน
ปรีชา พิณทอง (2544) และผู้เขียนอื่น ๆ ล้วนให้ข้อมูลเกี่ยวกับอานิสสงค์ของการทำบุญกฐินไว้ดังนี้
- สำหรับพระภิกษุ ในพระวินัยบัญญัติได้กล่าวถึงอานิสงส์สำหรับพระภิกษุไว้เป็น 5 ประการด้วยกัน คือ
- เข้าไปในหมู่บ้าน หรือไปไหนมาไหนได้ โดยไม่ต้องบอกลาผู้อื่น ตามความในสิกขาบทที่ 6 อเจลกวรรค ปาจิตตีย์ (วินัยพระสงฆ์บัญญัติไว้ว่าเวลาจะเข้าไปบ้าน หรือในหมู่บ้านจะต้องบอกภิกษุด้วยกันก่อน มิฉะนั้นเป็นอาบัติ-มีโทษ)
- อยู่ปราศจากไตรจีวรได้ คือ ไปค้างคืนที่อื่นไม่ต้องนำผ้าจีวรไปครอบไตร 3 ผืนก็ได้ ตามความในสิกขาบทที่ 2 จีวรวรรค นิสสัคคียกันท์ (วินัยพระสงฆ์บัญญัติไว้ว่า พระจะต้องมีผ้า 3 ผืน ติดตัวไปตลอด คือ มีสบง จีวร และสังฆาฏิไปตลอด แต่ถ้าได้รับกฐินแล้วไปไหนมาไหนไม่จำเป็นต้องเอาผ้าไปครบ 3 ผืนก็ได้ ไม่เป็นอาบุติ คือไม่เป็นโทษ)
- ฉันอาหารปรัมปรคณโภชนะได้ตามปรารถนา ตามความในสิกขาบทที่ 2 โภชนวรรค ปาจิตตีย์ (วินัยพระสงฆ์ให้ฉันอาหารเป็นเอกเทศแต่ถ้ารับกฐินแล้วตั้งวงฉันอาหารกันได้ไม่เป็นอาบัติ คือไม่เป็นโทษ)
- เก็บอติเรกจีวรได้ตามปรารถนาไม่ต้องทำวิกัป คือ การทำให้เป็นของสองเจ้าของ ตามความในสิกขาบทที่ 1 แห่งจีวรวรรค นิสสัคคียกัณฑ์ (วินัยพระสงฆ์ให้มีได้เพียงไตรจีวร คือ ผ้า 3 ผืนเท่านั้น แต่ถ้ารับกฐินแล้ว มีมากกว่าไตรจีวร 3 ผืนนั้นได้ ไม่เป็นอาบัติคือไม่เป็นโทษ)
- ถ้ามีใครมาถวายผ้าและลาภสักการะในวัดนั้น ๆ ให้มีสิทธิรับได้ (ผู้มีศรัทธาจะนำผ้าป่าและจตุปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ มาถวายหลังจากนั้นไปก็รับได้ไม่อาบัติ คือไม่เป็นโทษ)
อานิสงส์นี้มีระยะเวลาขยายไปถึงกลางเดือน 4 หลังจากนั้นไปพระภิกษุก็ต้องรักษาพระวินัยตามอย่างเคร่งครัดต่อไป
- อานิสงส์สำหรับคฤหัสถ์ผู้ถวายกฐิน
พระครูสิริวุฒิวงศ์ (2550) ได้กล่าวถึง ปรีชา พิณทอง (2544) ได้ให้ข้อมูลของอานิสงส์ของผู้ถวายกฐินไว้เหมือนกันกับการทำบุญทั่วไปเป็น 5 ประการด้วย คือ
- เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป
- มีเกียรติฟุ้งขจรไปในทุกสารทิศ
- เป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญ
- เป็นผู้ไม่หลงตาย
- เมื่อแตกกายทำลายขันธ์มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป
ส่วนแนวคิดของผู้ช่วยศาสตราจารย์ชอบ ดีสวนโคก แห่งสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ข้อมูลอานิสสงค์ของการทำบุญกฐินไว้เป็น 10 ประการด้วยกัน ดังต่อไปนี้
- ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้โอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ได้รับอานิสงส์ตามพระวินัย
- ได้สร้างที่พึงอันเป็นบุญกุศลให้กับตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต
- ได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด มีปัญญา เพราะได้กำจัดความตระหนี่ถี่เหนียว เสียสละทำอามิสทาน คือ การให้ด้วยวัตถุสิ่งของ
- ได้บำเพ็ญทานบารมีที่มีประโยชน์มาก เพราะพระุพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตให้ทำบุญชนิดนี้ในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น
- ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีจิตมุ่งมั่นทำกาลทาน อันมีผลไพศาลต่อส่วนรวมเนื่องจากการถวายกฐินได้ถวายแก่สงฆ์มิได้เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
- ได้รับการปลูกฝังและถือว่าส่งเสริมประชาธิปไตย เพราะพิธีกรรมมีการเผดียงสงฆ์ และมีการใช้เสียงเอกฉันท์ในการอุปโลกกฐิน
- ได้ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม อันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม
- ได้รับความภาคภูมิใจ มีสุขอันเกิดจากการได้เสียสละ สุขใจที่ได้ให้ผู้อื่นได้มีส่วนร่วมบุญทั้งโดยตรงและโดยอ้อม และสร้างสามัคคีธรรมในชุมชน
- ได้แสดงออกซึ่งความสมัครสมานสามัคคีของชุมชน หมู่ญาติมิตรและสมาชิกในวงศ์ตระกูลทั่วไป
- ได้รับความสุขใจเมื่อได้มีโอกาสทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติที่ตัวเองเคารพนับถือมาแต่บรรพบุรุษ
บรรณานุกรม
จ.เปรียญ. (ม.ป.ป.). ประเพณีพิธีมงคลไทยอีสาน. กรุงเทพฯ: อำนวยเวบพริ้นติ้ง.
บำเพ็ญ ณ อุบล. (ม.ป.ป.). บุญฮีตสิบสอง. ม.ป.ท: ม.ป.พ.
ฝ่ายบริภัณฑ์เพื่อการศึกษา. (2526). หนังสืออ่านเสริมความรู้เรื่อง ฮีตสิบสอง คองสิบสี่. อุบลราชธานี : ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.
พระครูสิริวุฒิวงศ์. (2550). ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำบุญทอดกฐินของชาวจังหวัดเลย : กรณีศึกษาอำเภอผาขาว จังหวัดเลย. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา. เลย : มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.
ไพฑูรย์ มีกุศล. (2520). ประเพณีอีสาน ใน ศิลปวัฒนธรรมไทย. งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยครั้งที่ 1 3-4 ธันวาคม 2520 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัย.
มติชน. (2565). ทำไม “การทอดกฐิน” ที่วัดถึงมี “ธงจระเข้” ?. https://www.silpa-mag.com/culture/article_71295
ส.ธรรมภักดี. (ม.ป.ป.). ประเพณีอีสาน. ม.ป.ท.: สำนักงาน ส.ธรรมภักดี.
อีสานเกท. (2564). กฐิน บุญประเพณีสืบทอดพระศาสนา. https://www.isangate.com/new/tradition/331-katin-1.html
- อีสานร้อยแปด. (2561). เดือนสิบสอง-บุญกฐิน, https://esan108.com/เดือนสิบสอง-บุญกฐิน.html