วัดไชยมงคล วัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายอีกแห่งของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานของพระปราบไพรีพินาศ และทางวัดจะมีงานบุญประจำปีเพื่อสืบสานประเพณีท้องถิ่นอีสาน คือ งานประเพณีจุลกฐิน ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552
ประวัติวัดไชยมงคล
วัดไชยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายลำดับที่ 4 ที่สร้างขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี สร้างขึ้นโดย เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ (พ.ศ.2409-2425) หรือชื่อเดิมคือ เจ้าหน่อคำ เป็นพี่ชายเจ้าจอมมารดาด้วงคำ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยท่านเป็นบุตรของเจ้าคลี่ (หรือเจ้าเสือ) ซึ่งเป็นหลานปู่เจ้าอนุวงศ์ แห่งนครเวียงจันทร์ เป็นเหลนของเจ้าสิริบุญสาร ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นต้นตระกูลพรหมโมบล ปัจจุบันมี พระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ เจ้าอาวาสวัดไชยมงคล
มูลเหตุการสร้างวัดไชยมงคล
ในปี 2409 เมื่อรัชกาลที่ 4 มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์นุสรณ์ เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานี องค์ที่ 4 แล้วนั้น ในปีเดียวกันได้เกิดกบฏฮ่อขึ้นที่นครเวียงจันทน์ ฝั่งประเทศลาว รัชกาลที่ 4 จึงได้มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ เจ้าเมืองอุบลราชธานี ยกกองทัพไปปราบกบฏฮ่อ ที่นครเวียงจันทน์ เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ จึงสั่งให้แม่ทัพนายกองรวบรวมไพร่พล โดยท่านเห็นว่าสถานที่ตรงนี้ (บริเวณที่ตั้งวัดปัจจุบัน) มีความร่มรื่น มีต้นโพธิ์ ต้นไทรงาม เป็นจำนวนมาก เป็นชัยภูมิที่ดีเหมาะที่จะเป็นที่รวบรวมไพร่พล เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์สามารถปราบกบฏฮ่อสำเร็จอย่างง่ายดาย หลังเสร็จศึกจึงเดินทางกลับมาที่จังหวัดอุบลราชธานี และมีดำริที่จะสร้างอนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะขึ้น ท่านจึงรวบรวมพลังศรัทธาจากเหล่าข้าราชบริพาร ไพร่พล และชาวบ้านชาวเมือง สร้างวัดขึ้น ณ สถานที่เคยเป็นที่รวบรวมไพร่พล ในปี พ.ศ. 2414 โดยให้นามว่า “วัดไชยมงคล” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระปราบไพรีพินาศ ที่อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ มาประดิษฐานไว้ที่วัดไชยมงคลแห่งนี้ ส่วนอีกองค์หนึ่ง คือ พระทองทิพย์ นำไปประดิษฐานไว้ที่ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปัจจุบัน)
การทอดจุลกฐิน งานบุญประจำปีของวัดไชยมงคล
วัดไชยมงคลมีงานบุญประจำปีที่ยิ่งใหญ่และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2552 คือ งานประเพณีการทอดจุลกฐิน งานบุญนี้จัดขึ้นเพื่อสืบสานและทำนุบำรุงกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ฟื้นฟู อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาในการทำผ้ากฐินให้คงอยู่สืบไป สร้างความสามัคคีของคนในชุมชน และเผยแพร่ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน ทางวัดได้จัดเป็นงานใหญ่ โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ในแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
“จุลกฐิน” คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้น โบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มากยิ่งนัก เพราะต้องใช้ความอุตสาหพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้
ประเพณีการทอดจุลกฐินนี้ เป็นประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น สำหรับประเทศไทยมีหลักฐานว่า มีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 268 ว่า “ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โปรดให้ทำจุลกฐิน”
ปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น โดยชาวอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า “กฐินแล่น” (จุลกฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก) เค้ามูลของการทำจีวรให้เสร็จในวันเดียวปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งให้คณะสงฆ์ในวัดพระเชตะวัน ร่วมมือกันทำผ้าไตรจีวรเพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะ ผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวรครั้งนี้ด้วย
สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้ เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐินแต่ยังไม่มีผู้นำกฐินมาถวาย ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน 12 (หมดฤดูกฐิน) มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่างๆ เมื่อเจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐิน จึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐินให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชน ในการร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน (เพราะสมัยก่อนไม่มีผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปขาย) การร่วมมือกันจัดทำจุลกฐินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็น
งานประเพณีการทำจุลกฐินของวัดไชยมงคล ประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น “ฮีต 12 คอง 14” การแสดงการละเล่นพื้นบ้าน การอนุรักษ์สืบสานอาชีพท้องถิ่น เช่น การตีมีด การทอผ้า การทำเครื่องทองเหลือง และการเรียนรู้ “จากเมล็ดฝ้ายสู่ไตรจีวร” ซึ่งเป็นการให้ความรู้ตั้งแต่การปลูกฝ้าย การเก็บเกี่ยว ถักทอเส้นใยให้เป็นผืนผ้า ฟอกย้อมสี จนกระทั่งตัดเย็บมาเป็นจีวร “กิจกรรมสาธิตเรื่องข้าว เช่น การทำข้าวหลาม ข้าวต้มมัด ข้าวโป่ง ข้าวมธุปายาธ ข้าวเม่า ข้าวปุ้น ข้าวจี่ เป็นต้น ทั้งนี้การจัดกิจกรรมในแต่ละปีอาจจะแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม
ที่ตั้ง วัดไชยมงคล
เลขที่ 2 ถนนสุรศักดิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดไชยมงคล
15.231040, 104.854476
บรรณานุกรม
วัดไชยมงคล. (2555). วัดไชยมงคล, วันที่ 23 สิงหาคม 2559. http://www.chaimongkol.net