วัดสารพัฒนึก สักการะพระเกสรดอกไม้

วัดสารพัฒนึก อุบลราชธานี วัดที่สร้างและเป็นวัดประจำพระองค์ของพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาวของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งมาประทับที่เมืองอุบลราชธานี เป็นที่ประดิษฐานพระเกสรดอกไม้ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5

ป้ายจารึกประวัติวัดสารพัฒนึก อุบลราชธานี
ป้ายจารึกประวัติวัดสารพัฒนึก อุบลราชธานี

ประวัติวัดสารพัฒนึก อุบลราชธานี

วัดสารพัฒนึก อุบลราชธานี ทรงสร้างโดย พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาวของรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2436 โดยที่ทรงพิจารณาเห็นเป็นการสมควรให้มีการยุบเลิกวัดสวนสวรรค์ให้ไปสร้างที่อื่น ด้วยเหตุว่าสถานที่ตั้งวัดสวนสวรรค์นั้นมีวัดอยู่ใกล้เคียงกันถึง 3 วัด คือ วัดทุ่งศรีเมือง วัดมณีวนาราม และวัดสวนสวรรค์ ทรงพิจารณาเห็นว่าต่อไปในภายหน้าจะเป็นภาระหนักแก่ชุมชนเหล่านั้นในการทำนุบำรุงวัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาวัด เรื่องอาหารการฉันของพระภิกษุ สามเณร เป็นต้น จึงให้ยุบวัดสวนสวรรค์และสร้างบ้านพักสำหรับนายอำเภอเมืองอุบลราชธานีขึ้นแทน และหาสถานที่สร้างวัดใหม่เพื่อให้เป็นอนุสรณ์หรือเป็นวัดประจำพระองค์

การพิจารณาตั้งชื่อวัดที่ทรงสร้างขึ้นใหม่นี้ตามพระนามของพระองค์ ดังนี้ “สรรพสิทธิ์” แปลว่า สำเร็จทุกอย่าง จึงได้คำว่า “สารพัด” ประสงค์ แปลว่า ความต้องการ และได้คำว่า “นึก” เมื่อนำมารวมกันแล้วจึงได้คำว่า “สารพัดนึก” คำว่า “พัด” ได้มีการเปลี่ยนเป็น “พัฒ” เพื่อจะได้คำแปลที่มีความหมาย เพราะวัดนี้ได้มีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามฐานะของวัด อนึ่งการสร้างวัดสารพัฒนึกนี้ก็เพื่อให้เป็นที่พำนัก ของ พระภิกษุม้าว โกณฑญโญ (เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดสารพัฒนึก) ซึ่งเป็นพระพี่ชายของหม่อมเจียงคำ ชุมพล พระชายาของพระองค์

jiengkam_02
หม่อมเจียงคำ พระชายาในพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

อาณาเขตของวัด ทิศเหนือ จดกับที่ดินของเอกชน และถนนอุปลีสาน ทิศใต้ จดกับถนนสุริยาตร์ และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ทิศตะวันออก จดกับบ้านพักแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์และถนนพลแพน ทิศตะวันตก จดกับถนนเทพโยธี และบ้านพักข้าราชการตำรวจภูธร-ตำรวจชายแดน

ลำดับเจ้าอาวาส เท่าที่ทราบนาม ญาท่านคำม้าว โกณฑญโญ (พ.ศ. 2436) พระอาจารย์พ่าย (ไม่ปรากฏ พ.ศ.) พระครูหมั่น อานนโท (ไม่ปรากฏ พ.ศ.) พระอาจารย์นก (ไม่ปรากฏ พ.ศ.) พระอาจารย์เกษ (ไม่ปรากฏ พ.ศ.) พระอาจารย์พุฒ (ไม่ปรากฏ พ.ศ.) พระอาจารย์น้อย (ไม่ปรากฏ พ.ศ.) พระมหาบัวเรียน (ไม่ปรากฏ พ.ศ.) พระครูภาวนานุศาสน์ (สาย จารุวณโณ) (พ.ศ. 2485–2486) พระอาจารย์พิมพ์ วีรปญโญ (พ.ศ. 2486–2487) พระครูสารคุณาทร (สี เกสโร) (พ.ศ. 2487–2534) พระครูศิริพัชโรบล (วิรัช ปญญาปโชโต) (พ.ศ. 2534-)

พระเกสรดอกไม้ วัดสารพัฒนึก

พระเกสรดอกไม้ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ของวัดสารพัฒนึกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างขึ้นจากเกสรดอกไม้ที่ประชาชนทั่วไปนำไปบูชาพระแก้วมรกต ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร ท่านทรงนำเกสรดอกไม้เหล่านั้นมาสร้างเป็นพระพุทธรูป จำนวน 5 องค์ เมื่อทรงสร้างเสร็จแล้วได้พระราชทานไปประดิษฐานตามพระอารามต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร และองค์หนึ่งก็ได้นำมาประดิษฐานอยู่ที่วัดสารพัฒนึก จึงเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ เป็นที่เคารพกราบไหว้บูชาของสาธุชนทั่วไป ในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี จะมีเทศกาลบุญประจำปีของวัดสารพัฒนึก ทางวัดจะอัญเชิญมาประดิษฐานให้สาธุชนทั่วไปได้กราบไหว้สักการบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลและขอพรปีใหม่ในการดำเนินชีวิตในทางที่ดีที่ถูกที่ควร และทุกท่านก็ได้ประสบผลสำเร็จมาแล้วเป็นจำนวนมาก

พระเกสรดอกไม้ วัดสารพัฒนึก
พระเกสรดอกไม้ วัดสารพัฒนึก

ที่ตั้ง วัดสารพัฒนึก

ถนนสุริยาตร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดสารพัฒนึก

15.237764, 104.864843

บรรณานุกรม

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2555). พระเกสรดอกไม้, วันที่ 23 สิงหาคม 2559. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon/file/MO03.pdf

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). วัดสารพัฒนึก, วันที่ 23 สิงหาคม 2559. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple/pdf/fTP0054.pdf

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง