ครูสลา คุณวุฒิ อดีตครูที่ผันตัวเองมาเป็นนักประพันธ์หรือนักแต่งเพลงแนวลูกทุ่งอีสาน โปรดิวเซอร์เพลง และนักร้องเพลงลูกทุ่ง ผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังนักร้องลูกทุ่งดังหลายคน มีผลงานการแต่งเพลงที่โด่งดังเป็นที่รู้จัก เช่น ล้างจานในงานแต่ง ยาใจคนจน ปริญญาใจ โทรหาแหน่เด้อ เกี่ยวข้าวรอแฟน แพ้รบสนามรัก เป็นต้น
ประวัติ ครูสลา คุณวุฒิ
ครูสลา คุณวุฒิ เกิดใครอบครัวชาวนาในชนบทอีสาน เข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่บ้านเกิดโรงเรียนบ้านนาหมอม้า อำเภออำนาจเจริญ ระดับมัธยมศึกษาที่อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ก่อนเข้ามาศึกษาต่อจนจบประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูง วิชาเอกวิทยาศาสตร์ ที่วิทยาลัยครูอุบลราชธานี และใช้ชีวิตครูอยู่ใกล้กับบ้านเกิดที่อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ขณะเดียวกันได้ศึกษาด้วยตนเองจนจบระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาบริหารการศึกษา (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากนั้นใช้ชีวิตครูควบคู่ไปกับการเป็นนักร้องนักแต่งเพลง สร้างสรรค์ผลงานการแต่งเพลงอย่างต่อเนื่อง เป็นครูใหญ่ในโรงเรียนเล็ก ๆ ของจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานี กระทั่งในปี พ.ศ.2543 จึงลาออกจากราชการครูมาประกอบอาชีพอิสระเป็นนักประพันธ์เพลงเต็มตัว
การเรียนรู้ การฝึกทักษะการประพันธ์เพลง การแต่งเพลงของครูสลา คุณวุฒิ
ครูสลาเริ่มต้นการเรียนรู้เรื่องการแต่งเพลงจากความสนใจของตนเอง โดยมีทุนศิลปินทางสายเลือดจากลุงและแม่ที่เป็นศิลปินพื้นบ้าน เริ่มเรียนรู้ในลักษณะครูพักลักจำกับผู้รู้หลายท่าน เช่น ศิลปินตาบอดประจำหมู่บ้าน ฉายา “บุญมา นาหมอม้า” และฝึกฝนการแต่งกลอนซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการประพันธ์เพลงจากพี่ชาย จนความสามารถในการประพันธ์เพลงได้ในระดับหนึ่ง จากนั้นจึงเริ่มศึกษาเรียนรู้จากครูเพลงรุ่นเก่า คือ ครูไพบูลย์ บุตรขัน และครูเพลงที่มีความชื่นชอบและมีผลงานเป็นที่ประทับใจในอดีตหลายท่าน เช่น ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ครูลพ บุรีรัตน์ ครูชลธี ธารทอง หรือแม้แต่ครูด้านการแต่งกลอนลำ เช่น ครูเฉลิมพล มาลาคำ และครูสุพรรณ ชื่นชม
ผลงานการประพันธ์เพลง เพลงแรกในชีวิต คือเพลง อดีตรักทุ่งนาแห้ง และเพลงที่ได้รับการบันทึกเสียงเพลงแรก คือ เพลง สาวชาวหอ ขับร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์ เมื่อปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบันมีผลงานเพลงเพื่อชีวิต ได้รับการบันทึกเสียงแล้วกว่า 30 เพลง เพลงลูกทุ่ง 500 เพลง และกลอนลำสำหรับนักร้องแนวหมอลำอีกประมาณ 200 กลอน
ผลงานเพลงที่ครูสลา คุณวุฒิ แต่งเกือบทุกเพลงประสบความสำเร็จในระดับประเทศถือเป็นเพลงลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและได้รับรางวัลสูงสุดในระดับชาติมาแล้วหลายเพลง อาทิเช่น
- ก่อนปี 2540 คือ เพลงกระทงหลงทาง ขับร้องโดย ไชยา มิตรชัย และเพลงจดหมายผิดซอง ขับร้องโดย มนต์สิทธิ์ คำสร้อย
- ปี 2541-2542 คือเพลงยาใจคนจน ขายแรงแต่งนาง พี่เมาวันเขาหมั้น น้ำตาผ่าเหล้า ติด ร.หัวใจ
- ปี 2543 เพลงรองเท้าหน้าห้อง เหนื่อยไหมคนดี ขอคนรู้ใจ ปริญญาใจ หัวใจคิดฮอด กระเป๋าแบนแฟนทิ้ง
- ปี 2544 เพลงแรงใจรายวัน ต้องมีสักวัน สัญญากับใจ เพื่อรักเพื่อเรา
จากผลงานเหล่านี้ ได้สร้างนักร้องดังระดับประเทศ คือ ไมค์ ภิรมย์พร ศิริพร อำไพพงษ์ และนักร้องอีกหลายคนที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน
องค์ความรู้ด้านการประพันธ์เพลงของครูสลา คุณวุฒิ
องค์ความรู้ของครูสลา คือ การประพันธ์เพลง โดยเป็นผู้ค้นคว้า ค้นพบ เทคนิค การแต่งเพลงลูกทุ่งที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่
- ขึ้นต้นต้องโดนใจ หมายถึง โดนใจผู้ฟังด้วยคำร้องหรือประโยคเด็ด ๆ แต่ถ้าหาประโยคเด็ด ๆ ไม่ได้ ก็ต้องใช้ทำนองขึ้นมาอุ้มเนื้อร้องให้ไปด้วยกัน ทำให้คนฟังสนใจตั้งแต่เริ่มแรก
- เนื้อในต้องคมชัด หมายถึง การเดินเรื่องให้คนฟังเห็นภาพ หรือเรียกว่าให้มีกลิ่นของเพลง เพื่อให้คนฟังจินตนาการได้ว่าเพลงกำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่ เช่นถ้าเป็นชนบทก็ต้องมีฉากบันไดเลื่อนหรือสิ่งที่มีอยู่ในห้างสรรพสินค้าถ้อยคำเหล่านี้ต้องมีเนื้อเพลงเพื่อให้คนฟังนึกภาพออก
- ประหยัดคำไม่วกวน หมายถึง การตัดคำฟุ่มเฟือยออก ถ้อยคำที่ใช้แทนตัวผู้หญิงอย่างเนื้อเย็น เนื้อทอง ทรามวัยที่หยิบใช้อย่างเกินความพอดี ทำให้เปลืองเนื้อที่โดยเปล่าประโยชน์
- ทำให้คนฟังนึกว่าเป็นเพลงของเขา หมายถึง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเพลงนั้นเป็นเพลงแทนตัวเขาได้
- จบเรื่องราวประทับใจ การจบ คือ การสรุป ทั้งนี้อาจสรุปเป็นคำตอบที่ชัดเจนหรือหาคำตอบไม่ได้ ต้องทิ้งเป็นคำถามเอาไว้
หลักการ 5 ข้อ ครูสลาได้นำมาเรียงร้อยให้คล้องจองกันให้จำง่าย โดยใช้หลักการที่สำคัญทำให้เพลงไพเราะน่าฟัง คือ การใช้ภาษาให้คุ่มค่า “คำทุกคำต้องทำงาน” โดยเฉพาะคำใน “ภาษาไทยอีสาน” ทำให้บทเพลงมีประเด็นและเห็นภาพชัดเจน ตามปกติสูตรในการแต่งเพลงทั่ว ๆ ไป ที่นักแต่งเพลงทั้งเก่าและใหม่รู้จักกันดี คือการจัดวางลำดับท่อนเพลงไว้ 4 ท่อน โดยให้ท่อนที่ 3 เป็นท่อนแยกและท่อนที่ 4 เป็นท่อนจบ ซึ่งโครงสร้างเพลงของครูสลา คุณวุฒิ ก็ใช้โครงสร้างนี้มาขยายความ แล้วใส่เทคนิคเฉพาะตัวลงไปโดยเรียบเรียงเป็นสูตร ดังนี้
- ท่อนแรก ต้องยึดหลักว่าคนรู้เรื่องก่อน ถ้าเปรียบเป็นหนังสือพิมพ์ก็คือ การโปรยหัวข้อคำหรือถ้าเป็นความเรียงก็คือตัว บทนำ
- ท่อนที่ 2 คือ การขยายความจากท่อนแรก
- ท่อนที่ 3 คือ ท่อนแยก ซึ่งเปรียบเหมือนท่อนส่งอารมณ์ ต้องพยายามใส่คำเด็ด ๆ ลงไปรวมถึงเทคนิคการวางคำด้วย ท่อนแยกนี้สำคัญมากเพราะทำให้คนฟังติดหูง่ายกว่าท่อนอื่น ซึ่งหากเปรียบเพลงทั่วไป ก็คือ ท่อนฮุค นั่นเอง
- ท่อนที่ 4 มีความสำคัญในแง่ของการรับลูกส่งจากท่อนแยก เพื่อให้งานสมบูรณ์งานเพลงของครูสลาจะเป็นเพลงที่ต้องมี “โครงเรื่อง” หรือมีประเด็นของเรื่องก่อน ครูสลาไม่ถนัดในการเขียนเพลงที่เน้นอารมณ์แบบนามธรรมแล้วลื่นไหลไปตามอารมณ์ ซึ่งคล้ายการเขียนเรื่องสั้นนั้นเอง นอกจากนี้ถ้อยคำในบทเพลงของครูสลานั้นได้ชื่อว่าเป็นคำที่ไพเราะกินใจ ไม่มีคำหยามหรือคำที่มีความหมายกำกวม แม้แต่คำเดียวในบทเพลง ดังนั้นงานเพลงของครูสลาจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ติดอันดับเพลงยอดนิยมในวงการเพลงลูกทุ่งเมืองไทย
วิธีการถ่ายทอดความรู้ด้านการประพันธ์เพลงของครูสลา คุณวุฒิ
ครูสลามีรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์ด้วยวิธีการที่น่าสนใจ คือ ใช้วิธีการสอนแบบตัวต่อตัว ทั้งด้านการแต่งเพลง และการร้องเพลง เน้นคุณภาพหรือมาตรฐานที่ครูสลา พัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี เป็นตัวรับประกันคุณภาพ คือผู้ที่ผ่านการถ่ายทอดและการควบคุมจากครูสลาแล้วถือว่าสามารถออกสู่วงการเพลงได้
การประพันธ์เพลง ร้องเพลงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว จึงต้องมีการแนะนำอย่างจริงจัง “แบบตัวต่อตัว” กับลูกศิษย์ทุกคน จนกระทั่งผลงานออกมามีคุณภาพจึงจะให้ผ่านได้ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการถ่ายทอดมากกว่าการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ
นอกจากนั้นครูสลามีรูปแบบการถ่ายทอดและการสอนลูกศิษย์และผู้สนใจทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ
การถ่ายทอดทางตรง ด้วยการสอนลูกศิษย์ที่รับผิดชอบเรื่องการแต่งเพลง ร้องเพลง ด้วยการอธิบาย การสาธิต การฝึกปฏิบัติจริง ร้องจริงจนเสร็จเป็นผลงานออกมา นอกจากนั้นยังมีการบรรยายพร้อมสาธิต ประกอบในการเป็นวิทยากรตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
การถ่ายทอดทองอ้อม คือ การสอนทางสื่อ ด้วยการให้คำแนะนำทางจดหมายแบบตอบรับและพิจารณาผลงงานเพลง การให้คำแนะนำทางโทรศัพท์ การเป็นกรรมการตัดสินและให้คำแนะนำในการประกวดร้องเพลง แต่งเพลงตามสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ การจัดเวทีการประกวดร้องเพลง
บรรณานุกรม
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2545). ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.