การด่องไหม หรือ การลอกกาวไหม เป็นการต้มฟอกไหมดิบสีเหลืองและแข็งกระด้างเพื่อลอกกาวไหมหรือน้ำลายของตัวหนอนไหมทีพ่นออกมาขณะพ่นใยสร้างรังไหมออก ส่วนประกอบของเส้นไหมนั้นจะประกอบด้วย ส่วนที่เป็นเส้นใยและส่วนที่เป็นกาวไหมชั้นนอก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 25-30% ก่อนจะนำเส้นไหมไปใช้จะต้องทำการล้างกาวไหมออกจากเส้นไหมก่อน เมื่อล้างกาวออกแล้วเส้นไหมจะนิ่ม และขาวขึ้น ซึ่งจะทำให้ย้อมติดสีได้ดีขึ้นด้วย วิธีการฟอกเส้นไหมแต่เดิมจะใช้ผักขม เหง้ากล้วยใบกล้วย ก้านกล้วย งวงตาล ไม้ขี้เหล็ก ใบเพกาอย่างใดอย่างหนึ่ง มาหั่นบาง ๆ นำไปตากแห้งแล้วนำไปเผาจนกระทั่งเป็นเถ้า จากนั้นนำเอาเถ้าที่ได้มาแช่น้ำตั้งทิ้งไว้ให้ตะกอนนอนก้น จึงเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้ลงฟอก แต่ปัจจุบันนิยมใช้วิธีต้มกับน้ำสบู่ผสมโซดาไฟ เป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำไปซักน้ำจนสะอาด เส้นไหมจะขาวขึ้นทำให้ง่ายต่อการย้อมสี
ชาวบ้านสมพรรัตน์จะนิยมด่องเส้นไหมด้วยการล้างด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำด่าง เช่น น้ำสบู่ น้ำขี้เถ้า ล้างจนเส้นไหมสะอาด และสัมผัสได้ว่าเส้นไหมไม่แข็งและไม่เหนียวมือ จึงบีบน้ำออก จากนั้นทำการกระตุกหรือกระทุ้ง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ทก การทกจะทำให้เส้นไหมเรียงตัวกันเป็นเส้นเดี่ยวและเส้นตรงขึ้น ซึ่งจะทำให้การกวักง่ายขึ้นและเส้นไหมไม่แตกเกลียว ถ้าทกไม่ได้จะเส้นไหมจะหยิกงอ การทกเส้นไหมจะนำเส้นไหมที่ฟอกสะอาดแล้วขึ้นตากและแขวนกับราวไม้ แล้วทำการกระตุกหรือสะบัดแรง ๆ จนเส้นไหมแห้งติดมือ เส้นไหมที่นำมาทกควรมีขนาดความยาวเท่ากันทั้งใจ ไม่อย่างนั้นแล้วการหกอาจจะทำให้เส้นไหมขาดได้ จากประสบการณ์ของชาวบ้านเส้นไหม 1 กิโลกรัม จะใช้เวลาทกประมาณ 30 นาทีเส้นไหมจึงจะแห้ง
กรรมวิธีการด่องไหมนั้น อาจจะทำให้เส้นไหมขาดไม่ติดต่อกันหรือเส้นไหมแตกเกลียว เพื่อให้เส้นไหมตรงและเส้นกลมสวยยิ่งขึ้น ชาวบ้านจะนำเส้นไหมนั้นมาพันเกลียวอีกรอบพร้อมทั้งต่อเส้นไหมที่ขาดให้เรียบร้อย ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า หลา จากนั้นจึงนำไปกวักใส่อักหรือโบกไหมไว้เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนต่อไป นิยมนำไปทำเส้นยืนหรือเส้นเครือมากกว่าเส้นพุ่ง อุปกรณ์ในการกวักเส้นไหม ประกอบด้วย 1.กงหรือระวิง เป็นตัวส่งให้เส้นไหมหมุนไปลงอัก 2.อัก ซึ่งทำด้วยไม้มี 4 ขา ทั้งหัว-ท้าย มีรูตรงกลางเอาไว้เสียบกับไม้คอนอัก (ไม้คอนอัก จะเป็นฐานไม้ มีแกนไม้กลม ๆ ยื่นออกมาให้อักเสียบและหมุนได้) อักจะเป็นตัวรับเส้นไหมที่ปั่น กรออกมาจากกงให้เป็นระเบียบ บางที่จะใช้โบกแทนอัก
บรรณานุกรม
- ประภากร สุคนธมณี. (2551). เรื่องราวความนุกสนานของการทอผ้าไหมมัดหมี่. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประยุกตศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- สมโพธิ อัครพันธุ์. (2539). การพัฒนาหม่อนไหมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์