ผ้าไหมมัดหมี่เป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองอย่างหนึ่งที่นิยมทำกันมานาน ลวดลายของผ้าไหมมัดหมี่นั้นส่วนใหญ่เกิดจากวิถีชีวิตที่เกี่ยวของกับธรรมชาติ บางลวดลายเชื่อมโยงกับคติและความเชื่อที่นับถือกันมา บางลายปรากฎอยู่ในศิลปะอื่น ๆ เช่น จิตรกรรมฝาผนัง หรือสถาปัตยกรรม สิ่งของเครื่องใช้ ลวดลายในตำนานพื้นบ้าน หรือในวรรณคดี บางลายตั้งชื่อแล้วเรียกสืบต่อกันมาแต่โบราณ บางลายตั้งชื่อขึ้นใหม่ ลวดลายที่เป็นลายดั้งเดิมจึงมีเยอะมาก และส่วนใหญ่จะเป็นผ้าลายทั้งผืน กล่าวคือ เป็นลวดลายที่วางเรียงซ้ำ ๆ ต่อเนื่องกันทั้งผืนผ้า
ลวดลายผ้าต้นแบบ พบเห็นได้ 4 ลายด้วยกัน ซึ่งเป็นลวดลายที่มีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ และยังพบว่าเป็นลวดลายที่ตกแต่งอยู่บนภาชนะเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่ขุดพบที่โคกพนมและที่บ้านเชียงอีกด้วย ประกอบด้วย
1. ลายเส้นตรง หรือเส้นขาด ในทางตรงยาวหรือทางขวาง เส้นเดียว หรือหลาย ๆ เส้นขนานกัน ในภาคอีสานลายเส้นตรงยาวตรงสลับกับลายอื่น ๆ จะปรากฏอยู่ในผ้ามัดหมี่ทั้งไหมและฝ้าย และบ่อยครั้งจะพบผ้ามัดหมี่อีสานเป็นลายเส้นต่อที่มีลักษณะเหมือนฝนตกเป็นทางยาวลงมา หรือที่ประดับอยู่ในผ้าตีนจกเป็นเส้นขาดเหมือนฝนตก หรือลายเส้นขาดขวางเหมือนเป็นทางเดินของน้ำ เป็นต้น
2. ลายฟันปลา ลายนี้ปรากฏอยู่ตามเชิงผ้าของตีนจกและผ้าขิด ตลอดจนเป็นลายเชิงของซิ่นมัดหมี่ของผ้าที่ทอในทุกๆ ภาคของประเทศไทย ชาวบ้านทางภาคอีสานเรียกว่า “ลายเอี่ยน” ลายฟันปลาอาจจะปรากฏในลักษณะทางขวางหรือทางยาวก็ได้ บางครั้งจะพบผ้ามัดหมี่ที่ตกแต่งด้วยลายฟันปลาทั้งผืนก็มี
3. ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือลายกากบาท เกิดจากการขีดเส้นตรงทางเฉียงหลาย ๆ เส้นตัดกันทำให้เกิดกากบาท หรือตารางสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหลาย ๆ รูปติดต่อกัน ลายนี้พบอยู่บนผ้าจก ผ้าขิด และผ้ามัดหมี่
4. ลายขดเป็นวงเหมือนก้นหอย หรือตะขอ ลายนี้พบอยู่ทั่วไปเช่นกัน บนผ้าจก ผ้าขิด และผ้ามัดหมี่ของทุกภาค ชาวบ้านภาคเหนือและภาคอีสาน เรียกว่า ลายผักกูด
การออกแบบลวดลายผ้าไหมมัดหมี่
การออกแบบลวดลายผ้าโดยการใช้กราฟในการเขียน จะกำหนดช่องบนกระดาษกราฟ โดยให้ 1 ช่องบนกระดาษกราฟเท่ากับลายมัดหมี่ 1 ลำ เวลาเขียนลายให้ใช้ดินสอจุดเบา ๆ ลงที่ช่องกราฟให้เห็นโครงสร้าง แล้วค่อยฝนดินสอลงเต็มช่องกราฟ โดยเขียนลายจากด้านบนลงข้างล่าง และเขียนลายตรงกลางกระดาษกราฟก่อน ถ้าลายเรขาคณิตมุมทุกมุมจะต้องตรงกัน และสามารถแบ่งครึ่งได้เสมอกันหรือเท่ากันทั้งสองด้าน หลังจากทำลวดลายส่วนบนของผืนผ้าแล้ว ค่อยมาทำเชิงผ้าทีหลัง และลงสีให้สวยงาม
การออกแบบลวดลายของผ้ามัดหมี่มีหลายรูปแบบ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- ลายมัดหมี่แบบเรขาคณิต คือ การกำหนดลงกราฟมีมุมจุดกึ่งกลางที่สามารถแบ่งครึ่งได้ เวลามัดลวดลายบนผืนผ้า ในส่วนของเส้นพุ่งให้มัดครึ่งหนึ่งของลาย เริ่มจากครึ่ง พอถอยก็จะเต็มลาย
- มัดหมี่แบบอิสระ สร้างสรรค์ คือ จะต้องร่างรูปภาพที่จะมัดหมี่แล้วมาลงกราฟ ให้ทำการคำนวณว่าลายขนาดนี้จะต้องใช้กี่ลำ เพื่อให้ได้ลายบนผ้าไหมเหมือนกับรูปภาพ
- มัดหมี่ตรงทอสไลด์ เวลาทอตั้งหมี่ให้ค่อย ๆ ไล่ไปเรื่อย ๆ แต่พอเล็กเกินก็จะตั้งสไลด์ใหม่
- มัดหมี่ทางเส้นยืน เป็นลวดลายที่สมัยก่อนนิยมทำกัน ส่วนใหญ่จะมีแต่ลวดลายแบบทรงเรขาคณิต เป็นลวดลายผ้าไหมที่ห่อคัมภีร์ในตู้พระของวัดโบราณ หรือผ้าที่ให้คนเฒ่าคนแก่ใช้มาเป็นเวลานาน
การคำนวณเส้นไหม
เป็นการกำหนดจำนวนลำที่จะใช้ อาจจะคู่หรือคี่ก็ได้ สมมุติว่าใช้ 25 ลำ ตามรูปกราฟ ออกแบบลายก็จะมี 25 ลำ เช่นกัน หลักที่ใช้สำหรับประมาณการ เช่น
- 1 ลำ ใช้เส้นไหม 4 เส้น ใช้เส้นไหมทั้งหมด 100 เส้น
- ในการทอ 1 นิ้ว ใช้เส้นไหม 50 เส้น (โดยประมาณ)
- เส้นไหม 100 เส้น จะได้ผ้ากว้าง 2 นิ้ว (25 ลำ)
- ผ้าถุง 1 ผืน กว้าง 72 นิ้ว ใช้เส้นไหม 3600 เส้น
บรรณานุกรม
- กรมหม่อนไหม. การออกแบบลายผ้าไหมและการทอผ้าไหมประยุกต์. เอกสารประกอบโครงการส่งเสริมการผลิตหม่อนไหม. กรุงเทพฯ : กรมหม่อนไหม.
- ฐานิศวร์ ฐิติกุลภิรมย์. (2553). การสร้างสรรค์ลายมัดหมี่ด้วยเครื่องมือเชิงกราฟิก. วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร,กรุงเทพฯ.