การค้นหูกเป็นการเตรียมไหมเส้นยืนหรือไส้หูก เป็นเส้นไหมตามแนวตั้งของผืนผ้า สำหรับผ้ามัดหมี่ในสมัยก่อนจะนิยมสีพื้นสีเดียวเป็นสีเข้ม เช่น สีดำ สีกรมท่า สีน้ำตาลเข้ม สีน้ำเงิน ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้สีที่หลากหลายทั้งสีเข้มและสีอ่อน
ฟืม เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้า ฟืมโดยทั่วไป มีลักษณะเป็นซี่ ๆ ทำด้วยไม้ไผ่ ปัจจุบันซี่ฟืมจะทำมาจากทองเหลืองหรือเหล็กซึ่งซี่ฟืมจะมีขนาดเล็กลงได้อีก สามารถร้อยเส้นยืนได้จำนวนมาก ผ้าที่ทอจากฟืมเหล็กจึงมีเนื้อหนาและแน่นกว่าฟืมไม้ไผ่
การเรียกชื่อฟืมจะเรียกตามจำนวนหลบ ฟืมจะยาวหรือสั้นขึ้นอยู่กับความต้องการผ้ากว้างหรือแคบ ถ้า 10 หลบ เท่ากับ 40 รู ก็เรียกว่า “ฟืมสิบ” ถ้า 12 หลบ เท่ากับ 40 รู ก็เรียกว่า “ฟืมสิบสอง”
ถ้าซี่ฟันฟืมถี่ จะเรียกว่า “ฟืมขัน” เนื้อผ้าที่ทอได้จะละเอียด ใช้กับด้ายเส้นเล็กและเส้นไหม ถ้าซี่ฟันห่าง จะเรียกว่า “ฟืมช้า” ใช้กับด้ายเส้นใหญ่ ก็จะได้ผ้าเนื้อหนา ถ้าซี่ห่างใช้กับด้ายเส้นเล็กจะได้ผ้าเนื้อบางไม่เหมาะแก่การใช้สอย
อุปกรณ์ที่ใช้ในการค้นหูกคือ เฝือ ซึ่งประกอบด้วยหลักค้นหลายคู่
วิธีการเดินเส้นยืน จะต้องกำหนดก่อนว่าจะทอผ้ากี่เมตร จะเดินเส้นยืนให้เท่ากับความยาวของผืนผ้า จากนั้นให้เอาเชือกฟางวัดกับตลับเมตร ถ้าได้ความยาวแล้วก็ทำเครื่องหมายเอาไว้ จากนั้นก็เรียงหลอดไว้ เพื่อที่จะดึงเส้นไหมค้นเครือ สมัยโบราณการค้นเครือจากใช้อักเพียง 2 อัก หรือ 4 อัก แต่ปัจจุบันจะใช้เป็นหลอดหรือโบก จำนวน 4,8,10,20 หลอด ถ้าใส่หลอดมากเกินไป จะทำให้ช่วงปลายของเครือหูกไขว้กันทำให้เส้นพันกันยุ่งได้
เริ่มจากผูกปลายเส้นไหมที่ถ่ายมาจากอักหรือโบกกับหลักค้นลูกแรกขวามือ แล้ววนไปทางซ้ายผ่านหลักค้นทุกหลักถึงหลักค้นลูกสุดท้าย จึงนำเส้นไหมไปพันกับหลักค้นพิเศษ ซึ่งมีหลักเดียวในเฝือ บริเวณนี้เส้นไหมจะขัดกัน เรียกตรงที่ขัดกันนี้ว่า ขาใจ เป็นบริเวณที่นับจำนวนความและจำนวนหลบ (1 ความ มีเส้นไหม 4 เส้น / 10 ความ เป็น 1 หลบ) เส้นไหมที่พันหลักค้นพิเศษแล้วจะถูกพันคล้องหลักค้นลูกต่าง ๆ ทุกลูกกลับลงมาที่จุดเริ่มต้นแล้ววนขึ้นไปอีก เส้นไหมทุกเส้นต้องผ่านขาไจ ค้นหูกกลับไป-กลับมา (ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า หลบไป-หลบมา ซึ่งเป็นที่มาของการนับกลุ่มเส้นไหมเป็นหลบ) จนกระทั่งได้เส้นไหมตามจำนวนสัมพันธ์กับฟืมที่จะใช้ทอ ใช้เชือกมัดขาไจไว้ให้เส้นไหมขัดกันอยู่ดังเดิม เสร็จแล้วถอดกลุ่มไหมออกจากเฝือ แล้วตัดเส้นไหมให้ปลายเปิดทุกเส้น ตรงที่คล้องกับหลักค้นลูกแรก กลุ่มเส้นไหมที่ได้ เรียกว่า ไส้หูก
ถ้าฟันฟืมเบอร์ 80 ชาวบ้านจะเรียกฟันหวี 40 หลบ ใน 1 หลบ จะมี 40 ช่อง ใน 1 ช่องจะมีเส้นไหม 2 เส้น ซึ่งก็จะทำให้ 1 หลบ จะมีเส้นไหม 80 เส้น เวลาเดินเส้นยืนจะต้องนับว่าครบ 80 เส้นหรือไม่ ถ้าครบแล้วก็จะเอาเชือกมาไพไว้ ทุกครั้งที่พบ 80 เส้น จะไพไว้จนครบตามจำนวนของฟันหวีที่ใช้ทอ เพราะ 80 เส้น จะเท่ากับ 1 หลบ ถ้าฟันหวี 40 หลบก็จะไพ 40 ครั้งเอาไว้
เมื่อค้นหูกแล้ว จะการต่อเส้นไหมที่ค้นและตัดปลายแล้วเข้ากับไส้หูกที่ติดอยู่กับเขาหูกและฟืมที่ค้นทอผ้าผืนที่แล้วเหลือค้างไว้กับฟืมและเขาหูก จะเรียกขั้นตอนนี้ว่า การสืบหูก โดยทำการผูกปลายเส้นไหมจากไส้หูกอันใหม่เข้ากับปลายเส้นไหมจากไส้หูกเดิมที่ติดอยู่กับเขาหูกทีละคู่ เรียงลำดับก่อนหลังของเส้นไหมให้ถูกต้อง โดยสังเกตลำดับจากการขัดกันของเส้นไหมที่ทำไว้ที่ขาไจ ผูกทีละคู่ไปเรื่อย ๆ จนหมด หากผูกข้ามเส้นจะมีเส้นไหมเหลืออยู่ หากผูกผิดลำดับ เวลาทอจะพุ่งกระสวยไม่ได้
จากนั้นติดตั้งหูกและฟืมเข้ากับกี่ทอผ้าที่เตรียมไว้ โดยทำการดึงหรือค่อยจับฟันหวีให้ค่อย ๆ เลื่อนออกจากจุดรอยต่อที่เส้นยืนมาต่อกับฟันหวี จากนั้นให้ใช้เส้นไหมมาทอขัดเอาไว้เพื่อจะดึงเรียงความสม่ำเสมอของเส้นไหมยืน ซึ่งเป็นการขึ้นกี่ทอผ้าที่เรียบร้อยพร้อมที่จะทำการทอผ้าไหมได้
จากประสบการณ์การทอผ้าของชาวบ้านสมพรรัตน์ ถ้าต้องการผ้ายาว 4 เมตร หน้ากว้าง 1.02 เมตร ใช้ฟืม 40 นั้น จะใช้เส้นไหมประมาณ 1.2 กิโลกรัม แบ่งเป็นเส้นยืนหรือเส้นเครือ ประมาณ 9-10 ขีด และเส้นพุ่งประมาณ 3 ขีด