เส้นพุ่ง หมายถึง เส้นไหมตามแนวนอนของผืนผ้า ผ้าไหมมัดหมี่ที่มีลวดลายที่เส้นพุ่งนั้นเกิดจากการมัดลายที่เส้นพุ่งตามลวดลายที่ออกแบบ เมื่อทำการมัดเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำไปย้อมสีที่ผู้ออกแบบลายได้กำหนดไว้ ซึ่งในการให้สีเส้นพุ่งนั้น ควรพิจารณาดูสีของเส้นยืนประกอบด้วย ถ้าสีของเส้นพุ่งกับเส้นยืนผสมกัน หรือพุ่งตัดกันจะต้องให้สีกลมกลืนกันให้อยู่ในโทนเดียวกัน เช่น สีดำและสีแดง เมื่อตัดกันแล้วก็จะเกิดเหลือบมันขึ้น แต่ถ้าเส้นยืนสีดำและเส้นพุ่งเป็นสีเขียวหรือฟ้า สีก็จะไม่เข้ากัน ทำให้ผ้าผืนนั้นได้สีที่ไม่สวยงามพอ
การค้นหัวหมี่หรือการเตรียมเส้นพุ่ง
เริ่มด้วยการเลือกลายก่อน แล้วทำการวัดความยาวของฟันหวีฟืม เช่น ถ้าใช้ขนาดของฟันหวี 42 นิ้ว ให้ใช้โฮงหมี่ขนาดน้อยกว่าฟันหวี 1 เซนติเมตร เพื่อให้หัวหมี่ที่มีขนาดสั้นกว่าความยาวของฟันหวี เพราะในขณะที่ทอผ้านั้นจะเกิดแรงตึงของเส้นพุ่ง ทำให้หน้ากว้างผืนผ้าของฟันหวี 42 นิ้ว นั้นมีขนาดเท่ากับความยาวของหัวหมี่พอดี ส่งผลให้ผ้าเรียบสม่ำเสมอทั้งผืนและไม่เกิดส่วนเกินของเส้นไหมทางเส้นพุ่งที่ริมขอบผืนผ้าทั้งด้านซ้ายและขวา หรือที่เรียกกันว่า ถั่วงอก
เริ่มการค้นหมี่ จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เครื่องค้นหมี่หรือโฮงค้นหมี่ ซึ่งมีลักษณะเป็นกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 60-80 เซนติเมตร ยาว 1.02 เมตร (ความยาวเท่ากับความกว้างของผ้าที่ทอสำเร็จแล้ว) การค้นจะจัดแบ่งเส้นไหมออกเป็นลำแต่ละลำจะมีเส้นไหมเท่ากันยกเว้นลำแรกและลำสุดท้ายจะมีจำนวนเส้นไหมเท่ากับครึ่งหนึ่งของลำอื่น ๆ จำนวนลำหมี่จะขึ้นอยู่กับลายหมี่ อยู่ระหว่าง 21-65 ลำโดยจำนวนลำจะเป็นเลขคี่เสมอ มัดหมวดหมู่เส้นไหมด้วยเชือกฟาง
วิธีการค้นหมี่ จะเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้แล้วมามัดกับหลักหมี่ด้านล่างก่อน แล้วพันรอบหลักหมี่ไปเรื่อย ๆ เรียกว่า การก่อหมี่ การค้นหมี่จะต้องค้นจากล่างขึ้นบน หรือบนลงล่างจนกว่าจะครบรอบที่ต้องการ จะเรียกแต่ละจำนวนว่าลูกหรือลำ ถ้าก่อหมี่ผูกเส้นไหมด้านขวา ก็ต้องวนซ้ายมาขวาทุกครั้ง ควรผูกเส้นไหมทุกลูกไว้ด้วยสายแนม เพื่อไม่ใหม่หมี่พันกันหรือหลุดออกจากกัน
การผูกสายแนม หรือการสาน หรือการไพลำไหม เพื่อแยกเส้นไหมแต่ละลำออกจากกันนั้น ถ้าเราไพแน่น จะมีผลทำให้การฟอกสีหรือย้อมสีเส้นไหมไม่ทั่วถึง เมื่อนำไปเส้นไหมนั้นไปทอจะได้ผืนผ้าที่ไม่เรียบ สีไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากเส้นไหมที่ย้อมได้มีทั้งเส้นไหมอ่อนและแข็ง
การคำนวณจำนวนเส้นพุ่ง
ประภากร สุคนธมณี ได้นำเสนอสูตรในการคำนวณจำนวนเส้นพุ่งไว้ ซึ่งมีความแม่นยำประมาณ 95% โดยการคาดการจากความต้องการผ้าทอกี่เมตร ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนลำและจำนวนเส้นของเส้นพุ่งตามลำดับ ความคาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากการคำนวณโดยใช้สูตรนี้เกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น เกิดจากฝีมือการทอของช่างทอแต่ละคนที่เวลากระทบฟืมหนักเบาของมือไม่เท่ากัน ถ้ากระทบแน่นจำนวนเส้นต่อเซนติเมตรก็จะยิ่งมากขึ้น หรือเกิดจากความหนาบางของเส้นไหม ถ้าเป็นไหมหลืบหรือไหมเปลือกจะมีความแตกต่างของเส้นไหมที่ไม่แน่นอน เป็นต้น
จำนวนลำ = (ความกว้างของลวดลายที่ต้องการ x เส้นพุ่ง) / จำนวนเส้นต่อ 1 ลำ
ความกว้างของลวดลายที่ต้องการ (เซนติเมตร) พิจารณาจากแบบร่างที่ออกแบบไว้ว่าต้องการให้แต่ละลายมีความกว้างเท่าใดในผืนผ้า ตัวอย่างเช่น ผ้าหนึ่งผืนจะทอให้มีความยาว 200 เซนติเมตร ต้องการทอดอกไม้ 1 ดอก ให้มีขนาด 30 เซนติเมตร ดังนั้นความกว้างของลาย คือ 30 เซนติเมตร
เส้นพุ่ง พิจารณาจากประเภทของเส้นไหมที่จะใช้ทำเส้นพุ่ง ถ้าเป็นไหมน้อย ให้นำ 24 มาเป็นตัวคูณ ถ้าเป็นไหมเปลือกหรือไหมหลืบให้นำ 15 มาเป็นตัวคูณ ไหมน้อยจะมีขนาดเส้นที่เล็กและละเอียดกว่าไหมเปลือก ใน 1 เซนติเมตร ไหมน้อยจะมีจำนวนเส้นเยอะกว่าไหมเปลือกโดยประมาณ (ไหมน้อยจะทอได้ 24 เส้นต่อ 1 เซนติเมตร ส่วนไหมเปลือกจะทอได้ 15-16 เส้นต่อ 1 เซนติเมตร)
จำนวนเส้นต่อ 1 ลำ ใน 1 ลำ จะใช้ไหมเส้นพุ่งตั้งแต่ 2,4,6,8,10 เส้น หรือมากกว่าก็ได้ แต่ต้องเป็นจำนวนคู่ ยิ่งจำนวนเส้นต่อลำมีน้อยจะทำให้มีความละเอียดมากเท่านั้น
หมายเหตุ : สูตรการคำนวณนี้เหมาะกับการสร้างลายผ้าที่เป็นลายประยุกต์ที่ทั้งผืนผ้ามีลายเดียวมากกว่าลายดั้งเดิมที่ทอซ้ำ ๆ กันทั้งผืน
ถ้าเป็นลายดั้งเดิมใน 1 ลายจะกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร หรือมากน้อยกว่านี้ก็แล้วแต่ จะทอซ้ำ ๆ กันไปจนจบผืน การซ้ำกันของลายจะเกิดขั้นตอนของการค้นหมี่ ที่เรียกว่า “ขีน” หรือการไขว้กันของเส้นไหมระหว่างการค้น ลายที่ต้องการทอซ้ำกันจะค้นหมี่ให้ขีนกัน เพื่อให้เกิดการซ้ำของลวดลาย เวลามัดลายก็จะมัดเพียงครั้งเดียว (1 ขีน สามารถทอออกมาได้ 2 ลาย ถ้าต้องการลายซ้ำ ๆ 20 ลาย ก็ต้องนับขีนระหว่างการค้นหมี่ให้ได้ 10 ขีน)
การค้นหมี่เพื่อทำผ้าไหมลายดั้งเดิมจะมีจำนวนลำอยู่ที่ 25-35 ลำ ลำละ 4 เส้น (ลายจะกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร) เพราะตัองการความละเอียดของลายมาก สมมุติว่ามี 31 ลำก็จะนับตั้งแต่1-31 ลำกับหน้าของหลักค้นหมี่ พอครบ 31 ลำ ก่อนนับย้อนให้นับซ้ำที่ 31 อีกครั้ง แล้วนับย้อน 30-29-28-27… ลงมาเรื่อย ๆ จนสิ้นสุดการนับ 1 ทำให้เส้นไหมทั้งขาไปขากลับทับซ้อนกัน ซึ่งเรียกว่าขีน 1 ขีน จะทอได้ 2 ลายที่เหมือนกัน ผืนหนึ่งจะใช้ประมาณ 10 ขีน ก็จะมี 20 ลายซ้ำ ๆ กันทั้งผืนผ้า
บรรณานุกรม
- ประภากร สุคนธมณี. (2551). เรื่องราวความนุกสนานของการทอผ้าไหมมัดหมี่. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประยุกตศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ศิริพร บุญชู และนันทวรรณ รักพงษ์. (2555). ภูมิปัญญาการผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน. กรุงเทพฯ : กรมหม่อนไหม.