เมื่อทำการค้นหมี่เรียบร้อยแล้ว ให้นำเส้นไหมที่ทำการค้นเตรียมไว้ไปใส่ในอุปกรณ์ที่เรียกว่า หลักหมี่ หรือ โฮงหมี่ เพื่อที่จะทำการมัดหมี่ให้เป็นไปตามลวดลายที่ได้ออกแบบไว้
การมัดหมี่ เป็นการทำลวดลายบนผืนผ้า โดยการใช้วัสดุกันน้ำมัดกลุ่มเส้นไหมเป็นลวดลายตามต้องการ ก่อนนำเส้นไหมไปย้อมน้ำสี เมื่อแกะหรือแก้วัสดุกันน้ำออก จะเกิดสีแตกต่างกัน ถ้าต้องการเพียง 2 สี จะแก้มัดเส้นไหมเพียงครั้งเดียว หากต้องการหลายสีจะมีการแก้วัสดุหลายครั้ง
เครื่องมือที่ใช้ในการมัดหมี่ คือ มีดบางเล็ก ๆ หรือใบมีดโกนชนิดมีด้าม เชือก ฟาง (เมื่อก่อนใช้กาบกล้วยแห้ง) โฮงหมี่ และแบบลายหมี่ การมัดลายเต็มตัว (เต็มผืน) ผู้มัดจะต้องมัดลายตามแบบลายหมี่ให้เต็มปอยหมี่ (ผู้ที่ชำนาญในการมัดหมี่จะไม่ดูแบบลายหมี่) ส่วนการมัดลายครึ่งท่อน (ครึ่งผืน) ผู้มัดหมี่จะมัดเพียงครึ่งเดียวของปอยหมี่เท่านั้น
การมัดหมี่
- เอาปอยหมี่ที่ค้นเสร็จแล้วใส่ “หลักหมี่หรือโฮงหมี่”
- การเริ่มต้นมัดลายหมี่ อาจมัดจากด้านบนไล่เรียงลงข้างล่าง หรือมัดข้างล่างก่อนจึงไล่เรียงขึ้นข้างบนก็ได้ บางคนอาจจะเริ่มมัดจากตรงกลางก่อนจึงขยายออกไปเต็มหลักหมี่
- เริ่มมัดปลายเชือกด้านหนึ่งกับลำหมี่ก่อน จึงพันอีกปลายหนึ่งซ้อนทับให้แน่นเพื่อไม่ให้สีย้อมซึมเข้าข้อหมี่ เมื่อพันทับกันไปจนได้ความยามตามแนวลายหมี่แล้ว มัดปลายเชือกกับลูกหมี่ให้แน่นเช่นกันโดยเหลือปลายเชือกไว้ เมื่อเวลาแก้มัดเชือกจะทำได้ง่าย ส่วนของไหมที่ถูกเชือกฟางมัดนี้เวลานำไปย้อมสี สีอื่นจะไม่สามารถซึมเข้าไปในส่วนนั้น ๆ ได้ จะคงสีไว้ตามเดิม และส่วนที่ไม่ถูกมัดจะย้อมติดสีตามที่ย้อม ถ้ามัดหมี่และย้อมสีสลับกันหลายครั้งจะทำให้ผ้าไหมมีหลาย ๆ สี
- เอาเชือกเส้นหนึ่งสอดเข้าไปในช่องหลักหมี่ข้างใดข้างหนึ่ง ผูกกลุ่มเส้นไหมไว้เป็นวงไม่ให้หมี่ที่มัดลวดลายแล้วหลุดออกจากกัน และใช้เป็นหูหิ้วสำหรับจับเวลาย้อม จากนั้นจึงถอดเส้นไหมมัดหมี่ออกจากหลักหมี่
การเรียนรู้หรือฝึกฝนวิธีการมัดหมี่ของชาวบ้านสมพรรัตน์ ส่วนใหญ่จะเริ่มหัดจากการมัดลายหมากจับก่อน เพราะเป็นลายที่ง่าย จากนั้นจึงค่อยเรียนลายข้าวหลามตัด และลายที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ
บรรณานุกรม
ศิริพร บุญชู และนันทวรรณ รักพงษ์. (2555). ภูมิปัญญาการผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน. กรุงเทพฯ : กรมหม่อนไหม.